Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

คุมส่งออก “เศษเหล็ก” แก้วิกฤติขาดแคลน

4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ผนึกผู้ส่งออกเศษเหล็กรายใหญ่ คุมปริมาณส่งออกเศษเหล็ก หวังช่วยแก้วิกฤติเศษเหล็กในประเทศขาดแคลน

นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่ม 4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย กับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กรายใหญ่ของประเทศ ได้ตกลงให้มีการกำหนดปริมาณการส่งออกเศษเหล็กประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ผู้ผลิตเหล็กด้วยเตาหลอมไฟฟ้าในประเทศสามารถใช้งานได้ โดยต้องควบคุมปริมาณส่งออกไม่เกินกว่า 230,000 ตันต่อปีเท่ากับปริมาณส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ กลุ่ม 4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยประกอบด้วยสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย

ส่วนกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กรายใหญ่ของประเทศ จำนวน 3ราย ได้แก่ ฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ยามานากะ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ ลูกอัดและเศษเหล็กไทย จำกัด

ด้านนายทนงศักดิ์ ภูมินา อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เปิดเผยว่า ขอแสดงความขอบคุณกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยเป็นตัวกลางประสานจัดการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็ก จนกระทั่งสองฝ่ายมีความเข้าใจปัญหาร่วมกันและสามารถบรรลุข้อตกลงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสงวนเศษเหล็กสำหรับใช้ในประเทศ

ด้านนายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ในฐานะผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เปิดเผยว่า ขณะนี้การสงวนเศษเหล็กสำหรับใช้ในประเทศถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กขั้นต้น (Iron making) ที่เป็นการถลุงเหล็กจากสินแร่เหล็กโดยตรง

โดยขณะนี้ในไทยมีแต่อุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางหรือการผลิตเหล็กกล้า (Steel making) ซึ่งต้องใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเหล็กกล้า โดยความต้องการใช้เศษเหล็กมีมากถึงกว่า 4 ล้านตันต่อปี แต่ปริมาณเศษเหล็กที่สามารถหาซื้อได้ในประเทศมีเพียง 3.2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น

ดังนั้นจึงทำให้ต้องนำเข้าเศษเหล็กจากต่างประเทศในปริมาณมากถึงกว่า 1.7 ล้านตันต่อปี แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยกลับมีการส่งออกสินค้าเศษเหล็กไปยังต่างประเทศมากถึงประมาณ 400,000 ตันต่อปี

“การส่งออกเศษเหล็กไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มและยังเป็นการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐควรพิจารณามาตรการสงวนเศษเหล็กสำหรับใช้ในประเทศ” นายประวิทย์กล่าว

ขณะที่ นายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตเหล็กอันดับหนึ่งของโลก เช่นประเทศจีนก็มีการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเศษเหล็ก เพื่อสงวนเศษเหล็กไว้สำหรับผู้ผลิตเหล็กในประเทศเป็นหลักเช่นกัน

โดยมีการเรียกเก็บภาษีการส่งออกเศษเหล็กในอัตราสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเศษเหล็ก นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเศษแล้ว ยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตเหล็กในประเทศอีกด้วย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924