ชื่อของ ‘คอมาว’ ได้รับการกล่าวถึงในระดับโลกทั้งในฐานะผู้นำด้านสินค้ากลุ่มโรบอทส์เพื่ออุตสาหกรรม รวมไปถึงในฐานะผู้ให้บริการออกแบบให้คำปรึกษา และติดตั้งระบบไลน์การผลิตแบบออโตเมชั่น เพียง 2 ปีที่เริ่มเปิดตลาดบ้านเรา วันนี้ คอมาว (ประเทศไทย) ก็สร้างชื่อจนได้รับความเชื่อมั่นในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนจนติดตลาดเช่นกัน
เปิดศักราชใหม่ คอมาว (ประเทศไทย) ยังรุกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดตัวโรบอทส์รุ่นล่าสุดอีก 2 รุ่น ทั้ง SCARA และ Articulate Robot ที่จะปฏิวัติวงการ ด้วยจุดแข็งโมดูลาร์ดีไซน์ พร้อมความเร็วในการทำงานที่น่าเหลือเชื่อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยให้สู้กับตลาดโลกได้
ร่วมพูดคุยกับ คุณขจัดภัย อารีประเสริฐสุข Managing Director จาก คอมาว (ประเทศไทย) จำกัด ถึงการเปิดตลาดด้านบริการออกแบบและติดตั้ง ระบบไลน์การผลิต หลังจากสั่งสมประสบการณ์ องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจนแน่นปึ้ก พร้อมลุย System Services เต็มรูปแบบ
‘RebelS6’ น้องใหม่ในรูปแบบ SCARA
ก่อกบฏด้วยโมดูลาร์ดีไซน์
คุณขจัดภัย อารีประเสริฐสุข Managing Director จากคอมาว (ประเทศไทย) เริ่มจากการแนะนำให้รู้จักกับโรบอทส์รุ่นใหม่ในตระกูล SCARA ที่ชื่อ ‘RebelS6’ ซึ่งเคลื่อนไหวได้ 4 แกนหมุนอิสระ เน้นการใช้งานในอุตสาหกรรมที่ต้องการความเร็วสูง เหมาะกับชิ้นงานขนาดเล็ก และผลิตหรือบรรจุทีละมากๆ โดยมีวงรอบ (Cycle) ในการทำงานน้อยกว่า ครึ่งวินาที ตามวิธีการทดสอบแบบมาตรฐานอุตสาหกรรม
RebelS6 สามารถรับนำหนักที่ปลายแขนได้ถึง 6 กิโลกรัม และมีให้ลูกค้าเลือก 3 รุ่น ตามระยะเอื้อม (Reach) ของแขน ได้แก่ ระยะ 45, 60 และระยะ 75 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละภาคอุตสาหกรรม การออกแบบระบบ และขนาดของไลน์การผลิตของลูกค้าแต่ละราย
“เช่น อุตสาหกรรมการผลิตช็อคโกแลต เครื่องจักรผลิตทีละ 200 ชิ้นต่อวินาที วิ่งลงสายพาน แพ็คลงกล่อง หรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างการผลิตปลั๊กไฟ ซึ่งเป็นการผลิตที่ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำในการหยิบวางชิ้นส่วนเล็กๆ”
คุณขจัดภัย ชูจุดเด่นว่า สินค้าของคอมาวใช้การออกแบบแยกชิ้นส่วน หรือ Modular Design ซึ่งหมายความว่า ลูกค้าสามารถอัพเกรด หรือดัดแปลงเครื่องได้ตามความต้องการเมื่อมีการปรับปรุงไลน์การผลิตโดยไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งระบบ
“Rebel แปลว่า กบฏ ซึ่งคือการปฏิวัติทางความคิด เราคิดนอกกรอบด้วยการออกแบบในมุมมองของผู้ใช้ Modular Design จึงเป็นคำตอบ
วันนี้ ลูกค้าซื้อที่ RebelS6 ที่ระยะเอื้อมแขน 45 ซม. เพราะไลน์การผลิตยังเล็ก สายพานยังแคบอยู่ ในอนาคต ลูกค้าขยายกิจการ ต้องการโรบอทส์ที่ใหญ่กว่านี้ ก็สามารถซื้อเฉพาะโมดูลเพื่อเพิ่มระยะเอื้อมขยายเป็นขนาด 60 หรือ 75 ซม. ได้โดยไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งระบบ
หรือกระทั่งวิธีการติดตั้งก็เป็นแบบ Modular โรบอทส์ของเราไม่จำเป็นต้องวางบนพื้น แต่ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อติดผนัง หรือแขวนบนฝ้าได้ จึงเหมาะกับการใช้งานในทุกรูปแบบและทุกอุตสาหกรรม” คุณขจัดภัยกล่าวถึงจุดเด่นของ RebelS6 Robots
ติดสปีดให้ไลน์การผลิตด้วย ‘Racer 5L’
โรบอทส์สุดยอดนักแข่ง เบา อึด และเร็วที่สุด
น้ำหนักเบา รับน้ำหนักได้มาก แขนยาว และทำงานได้เร็วที่สุด
Racer 5L เป็นโรบอทส์ขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเครื่องเพียง 22 กิโลกรัม เคลื่อนไหวได้ 6 แกนอิสระ และรับน้ำหนักที่ปลายแขนได้ถึง 5 กิโลกรัม และมีระยะเอื้อมเพิ่มขึ้นเป็น 80 ซม. เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และที่สำคัญ คือ เป็นโรบอทส์ ที่มีความเร็วในการทำงานมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับโรบอทส์คลาสเดียวกัน
อีกจุดเด่น คือ วัสดุที่ทำจาก ‘อะลูมิเนียมแมกนีเซียมอัลลอยด์’ ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับที่ทำกล้อง DSLR จึงมีความแข็งแรง ความทนทาน และการตอบสนองการใช้งานที่ความเร็วสูง แต่มีนำหนักเบา
“Shutter Speed ของกล้องดิจิทัลมีความเร็วสูงมาก ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมหาศาล ทำให้เกิดการสั่นไม่หยุด ในทางวิศวกรรมเรียกว่า การสั่นพ้อง หรือ Resonance ตัวอย่าง การสร้างสะพาน ต้องคำนวณเรื่องความถี่และการสั่นสะเทือน เพราะสะพานจะสะบัดด้วยความถี่ค่าหนึ่งจากลม จากพื้นดินที่คอสะพาน และจากรถยนต์ที่วิ่ง ถ้าปล่อยให้มีการสั่นพ้อง เพราะการเลือกใช้โครงสร้างและวัสดุที่ไม่เหมาะสม สะพานจะสั่นจนขาด เช่น สะพาน Tacoma Narrows Bridge ในสหรัฐอเมริกา ในทางวิศวกรรมคอมาวจึงใช้อัลลอยด์แก้ปัญหานี้
ในโรบอทส์ก็เช่นกัน ความถี่และความสั่นสะเทือนจากการทำงานในความเร็วสูง จะทำให้โรบอทส์สั่นพ้องไม่หยุดเนื่องจากความถี่ธรรมชาติของวัสดุที่ใช้ในการสร้าง อย่างเช่น อะลูมิเนียมหรือพลาสติก ซึ่งเป็นที่นิยมเพื่อลดต้นทุนการผลิต คอมาวจึงเลือกอะลูมิเนียมแมกนีเซียมอัลลอยด์” คุณขจัดภัยให้ความรู้เพิ่มเติม
เมื่อเทียบ Rebel Robots กับ Racer 5L คุณขจัดภัยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง โดยเปรียบเทียบง่ายๆ กับการทำงานของแขนมนุษย์ว่า…
RebelS6 Robots คือ การหยิบวางของขึ้น-ลง และหมุนไป ซ้าย-ขวา โดยไม่มีการพลิกข้อมือ
ส่วน Racer 5L สามารถทำได้มากกว่านั้น เพราะมีข้อมือที่สามารถพลิก ตะแคง หรือหมุนตัวชิ้นงานได้ เหมือนเราเสียบกุญแจไขประตูบ้าน
“ถ้าเราเคลื่อนชิ้นงานบนสายพานจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง โดยไม่ต้องพลิกชิ้นงานเลยตลอดไลน์การผลิต RebelS6 Robots คือคำตอบ แต่ถ้าต้องพลิก ต้องตะแคง ต้องเอียงชิ้นงาน Racer 5L เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์หรือหากเปรียบกับการใช้แขนของคน คือ RebelS6 ไม่มีการใช้ข้อมือ จึงเคลื่อนที่เร็วกว่า ส่วน Racer 5L มีข้อมือ สามารถหยิบของพลิกไปมาได้ จึงทำงานด้วยความเร็วที่ช้ากว่าเล็กน้อย” คุณขจัดภัยยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
ประสบการณ์แน่น
พร้อมลุยงานบริการออกแบบและวางระบบ
งาน System Services หรือ บริการออกแบบ วางแผนให้คำปรึกษา ตลอดจนติดตั้งระบบไลน์การผลิต นับเป็นโปรดักส์หลักของคอมาวมาโดยตลอด ทว่า คอมาว (ประเทศไทย) กลับเพิ่งเริ่มดำเนินการบริการส่วนนี้อย่างจริงจัง โดยคุณขจัดภัยให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของบุคลากร รวมถึงการสร้างเครือข่ายของผู้รับจ้างช่วง ตลอดจนความเชื่อถือและไว้วางใจในแบรนด์เป็นสิ่งที่ต้องสร้างก่อน
“2 ปีที่แล้ว เราตัดสินใจเปิดตัวด้วยสินค้าโรบอทส์รุ่นต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในแบรนด์ส่วนงานด้านวิศวกรรมการออกแบบและสร้างไลน์การผลิตต้องใช้เวลาในการสร้างความแข็งแกร่งของทีมงาน ถ้าเรารับงานเลย ลูกค้าของเราอาจจะประสบกับความไม่สมบูรณ์แบบ อาจจะต้องนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนเราสูงเกินไป แถมยังไม่ยั่งยืนด้วย อย่างไรก็ตาม ในที่สุดตลาดไทยเริ่มรู้จักและเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของเรา ประกอบกับการมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีเครือข่ายที่ดี และพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากประสบการณ์ยาวนานของคอมาวสำนักงานใหญ่ ตอนนี้เราจึงพร้อมที่จะรับงาน มั่นใจว่าลูกค้าจะได้งานที่จบในเวลาและค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าเหมาะสม” คุณขจัดภัยกล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของงานบริการแทบจะเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าโรบอทส์ของคอมาว (ประเทศไทย) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารและเครื่องดื่ม นั่นเพราะทั้งหมดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการโรบอทส์และระบบออโตเมชั่นความเร็วสูง แม่นยำ และทำได้ทีละมากๆ
Internet of Things และอุตสาหกรรม 4.0
หัวใจคือการเชื่อมโยงและการสื่อสาร
ขึ้นชื่อว่าเป็นออโตเมชั่นและโรบอทส์ ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับ Internet of Things ซึ่งคุณขจัดภัยกล่าวว่า นี่คือพื้นฐานของสินค้าคอมาวทุกตัวเพราะระบบมีความพร้อมรองรับการเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยสินค้าทั้งหมดเลือกใช้ชุดระบบประมวลผลของบริษัท B&R
“สมัยก่อน หากโปรดักชั่นสะดุด เช่น เกิดปัญหาในขั้นตอน C โดยกระบวนการข้างหน้าทั้ง A และ B ไม่มีปัญหาผู้คุมต้องไปสั่งงานผ่านตามขั้นตอนเพื่อให้กระบวนการ A และ B ลดความเร็วลง เพื่อรอการแก้ไขที่กระบวนการ C แต่ Internet of Things และ 4.0 เครื่องจักรเขาคุยกันเองได้ หาก C ขัดข้อง C จะบอก A และ B เองว่า ช่วยช้าลงหน่อยฉันมีปัญหาอยู่
โรบอทส์ของเราทุกรุ่น ใช้ชุดประมวลผลของบริษัท B&R จากประเทศออสเตรีย เพื่อให้โรบอทส์แต่ละตัวมีความพร้อมในการเชื่อมโยงเป็นเน็ตเวิร์คได้ แต่ละตัวจะสามารถสื่อสารกันผ่านเครือข่าย อาจจะเป็น Wi-Fi หรือ Mobile Network เช่น 4G หรือ 5G
โดยในงาน PROPACK ที่กำลังมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้ โรบอทส์ของคอมาวจะร่วมกับระบบควบคุมของ B&R แสดงให้เห็นการพูดคุยและสื่อสารระหว่างตัวเครื่องจักร ให้ลูกค้าได้เห็นภาพ 4.0 และ Internet of Things ที่แท้จริง” คุณขจัดภัยกล่าว
และเมื่อกล่าวถึงเทรนด์ 4.0 ที่กำลังเป็นทั้งความหวังและความหวาดกลัวของผู้ประกอบการในประเทศ คุณขจัดภัยกล่าวว่า เป็นเทรนด์ใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมถึงเพิ่มความสะดวกสบายและแม่นยำได้มากขึ้น
โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักมีเพียง 3 ข้อเท่านั้น คือ หนึ่ง ตัวผู้ประกอบการมีใจที่พร้อมจะเปิดรับนวัตกรรมและลงทุนในระบบใหม่นี้หรือไม่
สอง บุคลากรมีความรู้ในการใช้งานและบำรุงรักษาระบบ หรือยัง
และสาม เลือกซัพพลายเออร์ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่มากพอจะออกแบบ วางแผน ให้คำปรึกษา และติดตั้งระบบให้ใช้งานได้จริง
“ผมมองว่า ขณะนี้คือโอกาสอันดีมากๆ เพราะรัฐบาลสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ งานวิจัย การลงทุน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ที่สำคัญกว่าปัญหาด้านการเงิน หรือการลงทุน คือ ความรู้และประสบการณ์ที่จะรับมือกับระบบใหม่ทั้งบุคลากร และผู้บริหาร” คุณขจัดภัยวิเคราะห์
COMAU Academy ปั้นนักบริหารยุค 4.0
เนื่องจากคอมาวเข้ามาเล่นในตลาดกลุ่มโรบอทส์และออโตเมชั่นเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลก ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักว่า ปัญหาของวงการนี้ ไม่ใช่ตัวสินค้า ไม่ใช่การพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้จัดจำหน่าย แต่คือความรู้ของคนหรือบุคลากร COMAU Academy ที่เริ่มต้นจากความต้องการปั้น Project Manager เชิงวิศวกรรม ปัจจุบันเปิดหลักสูตรใหม่สำหรับผู้บริหารแล้ว
“เมื่อก่อน ผู้บริหารดีลงานกับคน หากเครื่องจักรมีปัญหาก็เรียกคนมาซ่อม แต่ยุคใหม่ เราต้องการผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และความรู้ต้องดีลกับเครื่องจักร ต้องใช้ความรู้ในการบริหารงานด้าน ออโตเมชั่น ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คอมาวจึงเปิดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารร่วมกับมหาวิทยาลัยที่อิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ มีทั้งการอบรมแบบบรรยายและไปดูโรงงาน ดูระบบจริงที่ต่างประเทศ ขณะนี้ผู้ประกอบการจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงในงานควบคุมแบบอัตโนมัติสนใจหลักสูตรนี้และสมัครเข้ามาจำนวนมาก
หลักสูตรนี้ เน้นเรียนภาพกว้าง ไม่เจาะลึกทางด้านเทคนิค แต่ต้องเข้าใจองค์รวม ต้องมองภาพใหญ่ให้ออก ไปอบรมให้รู้ว่าโปรดักชั่นเปลี่ยน คุณจะบริหารและปรับเปลี่ยนระบบอัตโนมัติอย่างเช่นหุ่นยนต์อย่างไรให้ได้งานจากเครื่องจักรที่ถูกต้องตรงตามความต้องการ และเต็มประสิทธิภาพ” คุณขจัดภัยให้ภาพ
ทั้งนี้ COMAU ยังเปิดรับสมัครนักศึกษาจบใหม่ทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะได้ทำงาน มีรายได้แล้ว ยังให้เรียนหลักสูตรชั้นสูงฟรีด้วย อย่างที่คุณขจัดภัยกล่าวว่า เทรนด์ 4.0 ที่กำลังปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมทั่วโลกในขณะนี้ หาใช่อุปสรรคและความน่ากลัวในทางกลับกัน คือ โอกาสและความหวัง ซึ่งอุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้ไว
แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงมีราคาที่ต้องจ่าย แต่การไม่ยอมเปลี่ยนแปลง อาจหมายถึงราคาที่มากกว่านั้นหลายเท่านัก เพราะมันอาจหมายถึงการตกขบวน และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปโดยสิ้นเชิง
“ไอน์สไตน์เคยบอกว่า มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่หวังว่าผลจะเปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ยังทำแบบเดิม” คุณขจัดภัยทิ้งท้าย