Friday, November 22Modern Manufacturing
×

คนไทยเจ๋ง พัฒนารถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบสำเร็จ

กฟผ. ร่วมกับ กฟน. กฟภ. ขสมก. และ สวทช. รับมอบรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบฝีมือคนไทยซึ่งพัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. เพื่อนำมาทดลองใช้จริง หนุนนโยบายขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมเดินหน้าประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

คนไทยเจ๋ง พัฒนารถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบสำเร็จ

นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพิธีรับมอบรถโดยสารไฟฟ้าภายใต้โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. มุ่งมั่นส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ทั้งการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการภายในประเทศ การขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT การพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXA เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยโครงการ “การพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นรถโดยสารไฟฟ้า” เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง (PM2.5) 

คนไทยเจ๋ง พัฒนารถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบสำเร็จ

ซึ่ง กฟผ. ได้ร่วมกับ กฟน. กฟภ. ขสมก. สวทช. และผู้ประกอบการไทยศึกษาความคุ้มค่าในการดัดแปลงรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้า ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้นำไปทดลองวิ่งให้บริการรับส่งประชาชนในเส้นทางสาย 95 (อู่บางเขน–แฮปปี้แลนด์ บางกะปิ) เป็นเวลา 3 เดือน สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ทั้งความสั่นสะเทือนของรถ ความสบายของเก้าอี้ การโคลงของตัวรถ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางเสียงและทางอากาศอีกด้วย

สำหรับรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบที่ส่งมอบให้ กฟผ. ในวันนี้ เป็นรถโดยสารประจำทางเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ซึ่งถูกปลดระวางไปแล้วของ ขสมก. นำมาปรับปรุงและพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้าโดยบริษัท พานทอง กลการ จำกัด สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 – 50 คน วิ่งได้ระยะทาง 125 – 200 กิโลเมตรต่อการอัดประจุแบตเตอรี่ 1 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและการจราจร) ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศในการผลิตร้อยละ 60 จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตและนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน 

ทั้งนี้รถโดยสารไฟฟ้าดังกล่าว กฟผ. จะนำไปทดลองใช้งานจริงอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อร่วมออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาวก่อนจะขยายไปสู่การให้บริการประชาชนในอนาคต ตลอดจนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสำหรับการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924