Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

ปลดล็อคขยะอุตสาหกรรม ไฟเขียว “พลังงานขยะ” ไฟฟ้าและน้ำมัน

กว่า 2 ปีมาแล้วที่กระทรวงพลังงานเปิดไฟเขียวให้ขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ขยะอันตรายสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าโดยได้รับอัตราส่วนเพิ่มของการขายไฟฟ้า (Adder) เหมือนขยะชุมชน แต่ก็ยังไม่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม

ปลดล็อคขยะอุตสาหกรรม ไฟเขียว “พลังงานขยะ” ไฟฟ้าและน้ำมัน

สาเหตุใหญ่อาจเนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีกฏระเบียบการนำขยะอุตสาหกรรมเข้าออกและขนย้ายจากโรงงานค่อนข้างเข้มงวด เพื่อควบคุมขยะอุตสาหกรรมที่เป็นขยะอันตรายไม่ให้กระจายสู่ภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะปนอยู่ในบ่อฝังกลบของขยะชุมชน ซึ่งมีค่ากำจัดถูกกว่า 3-4 เท่าตัว และเมื่อนโยบาย “Zero Landfill” เกิดขึ้น อะไรจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นหรือแย่ลง ภาคธุรกิจได้หรือเสีย “Win-Win” อยู่ตรงไหน?

จำนวนโรงงานตาม พ.ร.บ. ของกรมโรงงานที่มีกว่า 1 แสนโรง ในปี 2554 มีโรงงานขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานจำนวน 14,900 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 10 โดยมีขยะหรือของเสียซึ่งหมายรวมถึงเศษเหลือทิ้งและวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิตด้วย รวมทั้งสิ้น 24.1 ล้านตัน

จากข้อมูลการขออนุญาตนำกากออกนอกโรงงาน (สก.2) ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2553 – 30 กรกฎาคม 2554 ระบุว่า สามารถนำกากเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้กว่าร้อยละ 90 จากวิกฤตขยะอุตสาหกรรมเมื่อหลายปีก่อน ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ มีระบบช่วยเหลือตัวเองในการลดและนำขยะในโรงงานมาใช้ประโยชน์มากขึ้น

การนำกากของเสียอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์นับว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยปัจจุบันมีข้อมูลพอสรุปได้ดังนี้

  • เศษไม้ขี้เลื่อยจากโรงเลื่อยและโรงงานเฟอร์นิเจอร์ สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงใน Boiler ได้
  • น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว สามารถแปรสภาพมาใช้แทนน้ำมันเตา และการนำเมทานอลจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วม
  • การสกัดทองแดงและสังกะสีจากสารดูดซับที่ใช้แล้วในโรงกลั่นน้ำมันกลับมาใช้ใหม่
  • ชานอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาล มาผลิตไม้ปาติเกิล และใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินในโรงไฟฟ้าชีวมวล

ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเพียงบางส่วนของการใช้กากอุตสาหกรรมให้เป็นประโยชน์ แต่เมื่อนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco Industrial Town) เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของโลกลงร้อยละ 2 ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์ยังมีความสุขได้บนโลกใบเก่านี้ แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น เช่น Zero Landfill สำหรับขยะที่ไม่อันตราย หรือการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาแทนการฝังกลบอย่างปลอดภัย (Secure Landfill) ที่ใช้กับขยะอันตราย เป็นต้น

ถ้าปลดล็อคการควบคุมขยะอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นหรือแย่ลง

ท่านที่ไม่อยู่ในวงการหรือไม่เคยแจ้งขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงาน อาจไม่ทราบว่าเมืองไทยที่ท่านอาศัยอยู่มีมาตรการการดูแลกากอุตสาหกรรมไม่แพ้ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเมื่อนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานต้องมีการแจ้งชนิดและปริมาณ รวมทั้งระบุว่านำไปกำจัดที่ไหน วิธีการเป็นอย่างไร โดยใช้ระบบออนไลน์ ตั้งแต่โรงงานที่นำออก-ผู้รับกำจัดกาก-กรมโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีโรงงานรับกำจัดกากตามกฏหมายเพียง 10 กว่าแห่ง และที่เป็นโรงงานใหญ่ๆ มีเพียง 4-5 แห่ง แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน? ก็อยู่ที่คุณค่าของขยะที่แตกต่างกัน

ขยะที่เราเรียกว่า Non-Hazardous Waste หรือขยะไม่อันตราย มีความแตกต่างกันอย่างมาก มีตั้งแต่ขยะที่ไม่มีประโยชน์เลย ไปจนถึงขยะที่ต้องประมูลซื้อขายกัน ทำให้ขยะที่ต้องเสียค่ากำจัดส่วนหนึ่งหลุดลอดปะปนอยู่ในบ่อฝังกลบของขยะชุมชน ซึ่งมีค่ากำจัดถูกกว่า เช่น 300-400 บาทต่อตัน เมื่อเปรียบเทียบกับขยะอุตสาหกรรมซึ่งต้องเสียค่ากำจัดประมาณ 800-1,200 บาทต่อตัน

ดังนั้น หากกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะปลดล็อคมาตรการควบคุมขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายให้นำไปทิ้งได้อย่างอิสระ ก็ควรมีมาตรการรองรับเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะอันตรายปะปนไปกับขยะไม่อันตราย เนื่องจากขยะทั้งสองชนิดนี้ส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานเดียวกัน ตลอดจนดูแลและกำกับสถานที่รับกำจัดขยะที่นำไปทิ้งให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากสถานที่ทิ้งอย่างอิสสระไม่ได้เป็นโรงงาน ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายจากหน่วยงานที่ควบคุมเพียงแห่งเดียว

พลังงานขยะจากอุตสาหกรรม

ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายหรือเรียกง่ายๆ ว่า “กากอุตสาหกรรม” จะนำไปฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และบางส่วนก็ไม่ถูกหลักสุขาภิบาลเท่าใดนัก วันละหลายพันตัน รวมทั้งขยะอุตสาหกรรมที่ปะปนไปกับขยะชุมชนด้วย

จากข้อมูลที่มีอยู่พอสรุปได้ว่า ขยะอุตสาหกรรมดังกล่าวกว่าร้อยละ 50 สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า และบางส่วนก็สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันสังเคราะห์ เช่น ยางรถยนต์หรือพลาสติกบางประเภท

ขยะอุตสาหกรรม (ซึ่งในที่นี้ขอหมายถึงขยะไม่อันตรายเท่านั้น) จะมีค่าความร้อนระหว่าง 6,000-10,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม (Kcal/kg) และมีค่าความชื้นค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับขยะชุมชน

ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ ขยะอุตสาหกรรมได้รับการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง การนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF : Refuse Derived Fuel) จึงเป็นเรื่องง่าย จากการสุ่มตัวอย่างขยะอุตสาหกรรมที่แยกประเภทแล้ว 25 ตันต่อวัน จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าได้ 1 MW รายได้โดยเฉลี่ยรวมค่า Adder แล้วอยู่ที่เมกกะวัตต์ละ 50 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี ท่านมีขยะเท่าไหร่ลองคิดดูเอาเองก็แล้วกัน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมลองเปิดเว็บไซต์ http://www.zerowaste.co.th

มาเรียนรู้องค์ประกอบขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย

ถ้าเป็นขยะชุมชนจะมีข้อมูลด้านองค์ประกอบเผยแพร่และตีพิมพ์มากมายหาดูได้ทั่วไป แต่สำหรับขยะอุตสาหกรรมอาจมีความแตกต่างกันมากในองค์ประกอบของขยะ เนื่องจากขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงานว่า ผลิตสินค้าอะไร วัตถุดิบขนาดไหน? ดังนั้น จะขอแยกประเภทในภาพรวมเท่าที่จะพอหาได้ ดังนี้

  1. ประเภทที่ยังต้องนำไปบำบัดหรือกำจัด เช่น วัตถุดิบที่เสื่อมสภาพ ไม่ว่าจะเป็นพวกแป้งต่าง ๆ ผงกาแฟหมดอายุ เครื่องสำอางค์ ซอสปรุงรส ชีส เนย รวมทั้งกากตะกอนของเหลวต่าง ๆ
  2. ประเภทที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน เช่น เศษผ้า เศษกระดาษ เศษพลาสติก หรือ เศษกระดาษที่เคลือบเป็นเนื้อเดียวกับพลาสติก ไส้กรองชนิดต่าง ๆ วัสดุดูดซับความชื้น ถุงมือยาง เป็นต้น
  3. ประเภทนำไปรีไซเคิลได้ เช่น โลหะต่าง ๆ เศษสายไฟ ชาม กะละมัง หม้อ ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น ขยะรีไซเคิลเหล่านี้จะถูกประมูลขายสร้างมูลค่ามากมาย ไม่ก่อปัญหาแต่อย่างใด

เมื่อพลังงานเหลือน้อย หายาก และราคาแพง ถนนทุกสายของธุรกิจพลังงานจึงมุ่งสู่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างพลังงานทดแทน รวมทั้งการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด บ่อฝังกลบขยะซึ่งเคยนอนสงบนิ่งอยู่นานนับสิบปี อาจถูกตั้งข้อหาว่าผลิตก๊าซมีเทน ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น

กากของเสียที่สะสมอยู่กำลังจะกลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติ (Landfill Mining) ซึ่งต้องมีการสัมปทานไปใช้ประโยชน์ และแน่นอนที่สุด บ่อฝังกลบขยะทุกประเภทคือเป้าหมายและเป้านิ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมและผลิตพลังงานทดแทนในยุค “โลกร้อนพลังงานขาดแคลน”

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924