Friday, November 22Modern Manufacturing
×

ก.อุตฯ แย้มญี่ปุ่น เตรียมขยายลงทุนเพิ่มในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ก.อุตสาหกรรม แจ้งโรงงานปรับมาตรการสาธารณสุข สำรวจการฉีดวัคซีนเข็มสอง ทะลุร้อยละ 84 แย้มบริษัทยักษ์เครื่องจักรกลญี่ปุ่น เตรียมขยายลงทุนเพิ่มในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพรับเทรนด์โลกหลังโควิด 

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังรับมอบผลิตภัณฑ์ป้องกันและยับยั้งไวรัส จากบริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ประเทศไทยดำเนินมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จนสามารถผ่อนปรนให้ประชาชน ผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติแล้ว ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญและได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ในภาคอุตสาหกรรม หลักการ คือ จัดกลุ่ม คุมไว ลดการแพร่กระจาย รายได้ไม่สูญเสีย ไม่ต้องปิดกิจการแม้พบผู้ติดเชื้อก็ตาม ที่ผ่านมามีโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายดำเนินการมาตรการ Bubble and Seal จำนวน 2,662 ราย ทั้งเพื่อการป้องกันโรค และเพื่อการควบคุมโรค ทำให้เป็นภาคส่วนแรก ๆ ที่ควบคุมการระบาดจนมีการติดเชื้อลดลง 

วิธีพิมพ์กระจก 3 มิติแบบใหม่ ขนาดเล็กระดับไมครอน | Factory News EP.9

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหนังสือแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ แจ้งปรับมาตรการให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ซึ่งได้ขอความร่วมมือและกำกับติดตามให้สถานประกอบการทุกขนาด ประเมินตนเองด้วยระบบ Thai Stop Covid 2 plus (TSC 2 plus) และประชาสัมพันธ์การปรับมาตรการ Bubble and Seal ตามแนวคิดใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับโควิดได้ เพื่อรองรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ 

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้สำรวจการฉีดวัคซีนของภาคอุตสาหกรรมโดยมีโรงงาน 10,630 แห่งรายงานว่าได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแก่แรงงานแล้วทั้งสิ้น จำนวน 1,080,716 คน พบฉีดครบสองเข็มแล้ว ร้อยละ 84 ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 พบฉีดวัคซีนแล้ว ร้อยละ 53 จึงได้ร่วมประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้สถานประกอบการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่พนักงานเพิ่มเติม ณ โรงพยาบาลและศูนย์บริการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของทั่วโลกยังคงรุนแรงและมีโรคสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้ออีกระยะหนึ่ง

ด้านนายคัตสึมิ นากายาม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า IHI คือ ผู้ผลิตและจำหน่ายระบบเครื่องจักรอุตสาหกรรมและระบบคลังสินค้าชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เราได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทย ผ่านทางผลิตภัณฑ์ของไอเอชไอ อาทิ ระบบคลังสินค้า ระบบอัดอากาศ เครื่องผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงที่จอดรถอัตโนมัติ และเครื่องจักรสำหรับกระบวนการผลิต มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ป้องกันและยับยั้งเชื้อโรคที่มีส่วนช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโรค ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เครื่องฟอกอากาศระบบโอโซน จำนวน 1 เครื่อง ผลิตภัณฑ์ป้องกันและยับยั้งการขยายตัวของเชื้อไวรัสโดยใช้โอโซน จำนวน 50 ขวด รวมถึงบริการฉีดพ่นสเปรย์ป้องกันและยับยั้งการขยายตัวของเชื้อไวรัส พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร 

ทั้งนี้บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพิ่มเติมในประเทศไทย เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดที่มีโอกาสขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลและปกป้องตัวเองจากเชื้อโควิด-19 โดยตั้งเป้ายอดขาย 5,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2573 (2030) ในกลุ่มเครื่องจักรอุตสาหกรรม

รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างอาจไม่เพียงพอ นวัตกรรมจาก IHI จะช่วยยกระดับการปกป้องอีกขั้น เพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพ รวมทั้งป้องกันเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ บริษัทฯ พร้อมจะให้การสนับสนุนบริการฉีดพ่นสเปรย์ป้องกันและยับยั้งการติดเชื้อไวรัสให้กับโรงเรียน จำนวน 1 แห่ง ในกิจกรรมจิตอาสาของกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วย

สำหรับการบริจาคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของสนับสนุนการป้องกันการติดเชื้อและลดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งกระทรวงฯ จะนำไปใช้งานในห้องประชุม ลิฟต์โดยสาร ตลอดจนจุดสแกนนิ้วมือ โดยมีข้าราชการลูกจ้างกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการและประชาชนที่มาติดต่อราชการ ได้รับประโยชน์ และได้รับการปกป้องมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924