ก.อุตฯ เผยปล่อยสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืนไปแล้วกว่า 70 ล้านบาท คาดจะทยอยปล่อยครบ 3,000 ล้าน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมเตรียมอีก 5 โครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอี
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้รับทราบความก้าวหน้าการปล่อยสินเชื่อของโครงการสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน วงเงิน 3,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐนั้น จะเปิดให้ยื่นคำขอต่อไปจนถึง สิ้นเดือนมกราคม 2563 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด
ทั้งนี้ตั้งแต่เปิดให้ยื่นคำขอในวันที่ 15 พฤศจิกายน จนถึง 20 ธันวาคม 2562 ได้รับการอนุมัติสินเชื่อฯไปแล้ว 28 ราย วงเงิน 70.80 ล้านบาท และยังมีคำขอสินเชื่อฯ อีก 700 ราย วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ที่กำลังทยอยเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองของคณะอนุกรรมการ
สำหรับจังหวัดที่มีการยื่นคำขอสินเชื่อมากที่สุด 7 อันดับแรก ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ สงขลา สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต และคาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อวงเงินรวม 3,000 ล้านบาทได้หมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยผู้สนใจสอบถามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่ SME Support & Rescue Center หรือ ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สายด่วนโทร.1358 หรือ http://www.smerescuecenter.com
นอกจากนี้ ยังได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.รบ. กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ พ.ศ…. และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และฝ่ายกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 เพื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อไป
และเห็นชอบโครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ปี 63 แล้ว 5 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 (2) โครงการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารภาคตะวันออกสู่อุตสาหกรรม 4.0 (3) โครงการยกระดับศักยภาพ SMEs อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีการแปรรูป (4)โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
และ (5) โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการนำประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาสถานประกอบการ (Research Connect) เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างครบทุกมิติ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยอัดงบประมาณกว่า 52 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการ และคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีโครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ถือเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างตรงเป้า ทั้งยังช่วยเสริมศักยภาพให้เอสเอ็มอี สามารถต่อยอดแนวคิดในการทำผลิตภัณฑ์ เพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 5 โครงการฯ ของปี 2563 ที่ผ่านการพิจารณานั้น เป็นงบประมาณจำนวนกว่า 52.6 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังเร่งการพิจารณาอนุมัติโครงการฯ อื่นๆ เพิ่มเติม อีก 17 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 143.35 ล้านบาท