Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ปี 66  เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.6 

สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ของปี 2566 อยู่ที่ 160.85 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.6 คาดว่าครึ่งปีหลังการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1  ปี 2566 (เดือนมกราคม – มีนาคม) เฉลี่ยอยู่ที่ 160.85 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.6 และคาดว่าในครึ่งปีหลังการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างเห็นได้ชัด  

เทคโนโลยีไมโครเวฟแบบใหม่ที่ช่วยให้รีไซเคิลโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้น | FactoryNews ep.53/1

โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในไตรมาส 1 ของน้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.78 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.6 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 76.40 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 โดยเป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 สูงถึง 66.66 ล้านลิตร/วัน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตร่วมกับกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตรึงราคาให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และบี20 มีการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.08 ล้านลิตร/วัน และ 0.16 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ เนื่องจากการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วขั้นต่ำที่เท่ากันทุกชนิด การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 14.04 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 95.2 ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหลายประเทศ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.02 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.6 โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ลดลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีร้อยละ 10.7   

ขณะที่ การคาดการณ์ภาพรวมการใช้น้ำมันหลังจากนี้จนถึงสิ้นปี 2566 คาดการณ์ว่าในภาพรวมโดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดตัวของธุรกิจใหม่ที่ต้องพึ่งพาการขนส่งและการใช้พลังงานปริมาณมาก โดยคาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ดังนี้  น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 น้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (JET A1) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 น้ำมันเตาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และ LPG  เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 โดยการคาดการณ์ของกรมยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรมคาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ปี 2566 ในภาพรวมยกเว้นน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (JET A1) จะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทาง ประกอบกับสายการบินอยู่ระหว่างการฟื้นฟู  

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของกรมธุรกิจพลังงานในการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ได้คาดการณ์สถานการณ์ที่จะกระทบอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน และจัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้สอดรับกับแผนพลังงานงานชาติร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน อยู่ระหว่างเตรียมรับฟังความเห็นประชาชนร่วมกับแผนพลังงานด้านต่างๆ ทั้งนี้ Oil Plan มีสาระสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน ประกอบด้วย 

1. ด้านความมั่นคง  มุ่งศึกษาปรับปรุงอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน 

2. ด้านการบริหารจัดการชนิดน้ำมันในภาคขนส่ง  ลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม 

3. ด้านการส่งเสริมการใช้และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน  โดยเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจใหม่ (New Businesses)  ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในการลงทุนธุรกิจใหม่   

กรมธุรกิจพลังงานคาดว่าการขับเคลื่อนแผน Oil Plan จะเกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการขับเคลื่อน Oil Plan โดยได้กำหนดทิศทางการดำเนินการผ่านแผนปฏิบัติราชการกรมธุรกิจพลังงานปี 2566-2570 ที่ปรับปรุงใหม่ โดยเน้นใน 3 ด้าน คือ 1) การส่งเสริมความมั่นคงและการลงทุนธุรกิจพลังงาน เน้นการขับเคลื่อน Oil Plan และสนับสนุนการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง 2) การยกระดับการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการพัฒนาห้องตรวจคุณภาพน้ำมัน ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านและการให้บริการผ่าน E-Service และ 3) การยกระดับองค์กรสมรรถนะสูงบนฐานดิจิทัล โดยการปรับโครงสร้างองค์กร และการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูงสามารถขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน กรมธุรกิจพลังงานจะดำเนินการส่งเสริมและผลักดันให้ การขนส่งน้ำมันทางท่อให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ โดยจะเร่งพิจารณาการเชื่อมท่อขนส่งให้เป็นโครงข่าย ศึกษารูปแบบบริหารจัดการระบบท่อแบบ Single Operator ตลอดจนโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV นอกจากนี้ กรมยังได้ร่วมมือกับ 3 การไฟฟ้า สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน และสถานีบริการทั่วประเทศ ส่งเสริมการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าสาธารณะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเร่งจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นทิศทางเดียวกันและพัฒนาการให้บริการให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาเพื่อให้บริการผ่านระบบ e-Service กรมได้วาง Roadmap ยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มาติดต่อ สร้างความโปร่งใสในการบริหารงานผ่านระบบ e-Service โดยคาดว่าจะศึกษาจัดวางระบบได้ภายในปี 2566 และเปิดขออนุมัติ อนุญาตกิจการด้านความปลอดภัย ได้ภายในปี 2567 และขยายการใช้งานระบบไปยังส่วนภูมิภาคได้ภายในปี 2568 

ทั้งนี้ การดำเนินงานในอนาคตของกรมธุรกิจพลังงานดังกล่าว กรมจะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวของกรมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การให้บริการประชาชนโปร่งใสมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคง เพิ่มการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในที่สุด

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924