Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

การลงทุนกับงานวิจัย… ทางรอดของประเทศไทย

ความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมไทยในฐานะ OEM สำคัญของโลกนั้นเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป เพราะเรามีฐานความรู้ด้านนี้มาหลายสิบปี ลองผิดลองถูก เรียนผูกเรียนแก้จนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ยากจะทัดเทียม ทว่า รายได้และคุณภาพชีวิตยังติดกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงโลกอุตสาหกรรมที่เผชิญกับความเปลี่ยนผ่านทั้งด้านพฤติกรรมและเทคโนโลยี ทำให้อุตสาหกรรมไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง

การลงทุนกับงานวิจัย… ทางรอดของประเทศไทย

บริษัท กรีนเวิลด์ พับลิเคชั่น จำกัด ในนามผู้จัดทำเว็บไซต์ MMThailand.com ขอแสดงความเสียใจและร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อการถึงแก่กรรมของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต รมว.ต่างประเทศ อดีตเลขาธิการอาเซียน และประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT: Future Innovation Thailand Institute)

คีย์เวิร์ดคุ้นหูสำหรับยุทธศาสตร์พาประเทศไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลาง หนีไม่พ้นคำว่า วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต แต่ก็เป็นคำถามที่ตีกลับมาอีกว่า ใช้เงินเท่าไร ใช้เงินจากไหน ใครต้องลงทุน ลงทุนอย่างไรจึงคุ้มค่า ฉบับนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT: Future Innovation Thailand Institute) จะมาให้คำตอบเกี่ยวกับคำถามข้างต้น

สร้างนวัตกรรม ไม่ใช่แค่เงินลงทุน แต่ต้องสร้างระบบนิเวศ

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกริ่นถึงภาพกว้างของสภาพเศรษฐกิจประเทศเราว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ ที่กลายเป็นคำคุ้นหู แท้จริงแล้ว หมายความว่า การที่ประชากรในประเทศนั้นๆ มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อคน ต่อปี ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในนั้น เพราะมีประชากรมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6-7,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มก่อร่างสร้างประเทศมาพร้อมๆ กันอย่างไต้หวัน สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ กลับสามารถก้าวพ้นกับดักนี้ไปได้แล้ว

ถ้ายังเป็นแค่ฐานการผลิตให้สินค้าคนอื่น หรือเป็นฐานการลงทุน ย้ายโรงงานมาใช้แรงงานราคาถูก ใช้ทรัพยากรราคาถูกที่มีอยู่มาก ประเทศเหล่านั้นในที่สุดจะถึงจุดที่โตไม่ได้ จะติดกับดักรายได้ปานกลาง สถิติมันชัดมากว่า ประเทศที่จะสามารถก้าวพ้นกับดักไปได้ คือ ประเทศที่ลงทุนเพื่อการพัฒนาไปกับงานวิจัย มีนวัตกรรมของตัวเอง มีทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น” ดร.สุรินทร์กล่าว

ดร.สุรินทร์ ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า การลงทุนด้านงานวิจัย หมายถึง การลงทุนด้านการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เปลี่ยนทัศนคติ ให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลอง กล้าตั้งคำถาม กล้าวิเคราะห์ กล้าลองผิดลองถูก การที่รัฐบาลบอกว่า เราเพิ่มการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จาก 0.2% ของ GDP เป็น 0.4% ของ GDP นั้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศเราจะเกิดนวัตกรรมได้ทันที เพราะความจริงแล้ว การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังต้องการบรรยากาศ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อแก่การทำวิจัย คิด ทดลอง ประดิษฐ์ เหมือนอย่าง Silicon Valley คือเป็น ‘นิคม’ เพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่

“คำถามคือเราจะหาคนแบบไมเคิล ฟาราเดย์ ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ผู้ค้นพบกระแสไฟฟ้าได้กี่คน เราจะหาคนแบบเซอร์ไอแซก นิวตัน ซึ่งค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกได้กี่คน คนอื่นนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิล ลูกแอปเปิลร่วงใส่หัวไม่เห็นจะคิดอะไรได้ มันขึ้นอยู่กับวิธีการสอน การผลิตคน การให้การศึกษา และปลูกฝังทัศนคติ ไม่สามารถต่อยอดได้ถ้าไม่มีราก การศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรม การวิจัยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรม ต้องสร้างวัฒนธรรมของการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การคิดค้นและการประดิษฐ์ ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับวิสัยทัศน์ผู้นำ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า การลงทุนเพื่อการวิจัยพื้นฐาน

ข้อสำคัญที่สุดของการนำพาประเทศไป 4.0 คือ Mindset และ Mentality เหล่านี้ คือการมีทัศนะที่เป็นวิทยาศาสตร์ การมีความตระหนักว่ามันมีคำตอบ แต่ต้องมีการค้นคว้า วิเคราะห์ ศึกษา ทดลอง วิจัย แต่คำตอบเหล่านั้น เราต้องแสวงหา ทดสอบ ทดลอง กล้าคิด กล้าถาม กล้าโต้ กล้าแลกเปลี่ยน”

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

ดันไทยให้ขึ้นชกรุ่นใหญ่ได้ สร้างแบรนด์ Made in Thailand

ดร.สุรินทร์วิเคราะห์ว่า ปัญหาพื้นฐานของประเทศไทยคือ ระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจการปกครอง ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อให้เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วม อยากพัฒนา มีกลไกในการเฉลี่ยโอกาส อำนาจ การบริหาร และรายได้ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมา ระบบไม่เอื้อให้จังหวัดและชุมชนเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้คัดสรรคนที่มีความรู้ความสามารถ บั่นทอนความสามารถและโอกาสของประเทศ

“เรามีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ความไม่เท่าเทียมในโอกาส การกระจายอำนาจ โครงสร้างสังคม ขอบเขตสิทธิเสรีภาพ มันไม่เท่ากันระหว่างคนส่วนกลางกับคนชายขอบ เพราะเขาไม่มีหลักประกัน ไม่มีกลไกที่จะคุ้มครองเขา กลไกที่ควบคุมเขาเป็นกลไกที่เอารัดเอาเปรียบ หาประโยชน์ กลไกที่หันหน้าเข้ากรุงเทพฯ หันหลังให้ประชาชน มาอบรม มาประชุม มาดูงาน ไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ หรือจังหวัด

ภารกิจที่เราต้องทำ คือ มองไปข้างหน้า แล้วดูว่ามีปัญหาอะไรที่เราต้องเผชิญ และเรามีวิธีคิดต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไรที่จะนำไปสู่ความเข้าใจปัญหา เพื่อหาคำตอบว่าต้องจัดระบบระเบียบการศึกษาอย่างไร กระจายอำนาจอย่างไร ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยอย่างไร สร้างครูอาจารย์แบบไหน” ดร.สุรินทร์วิเคราะห์

ปัญหาที่ว่าข้างต้น ส่งผลถึงการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง ดร.สุรินทร์ ใช้คำว่า “ประเทศไทยชกต่ำกว่าน้ำหนักของตัวเองมาตลอด”

“หากเรารวมข้อได้เปรียบเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ฝีมือแรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติทั้งผลผลิตและภูมิศาสตร์ พิกัดน้ำหนักของเราควรอยู่ที่ Heavyweight แต่ที่ผ่านมา เราลงไปชกรุ่น Flyweight เรายักชกไม่เต็มน้ำหนักหมัด ยังซ้อมไม่พอ ทั้งๆ ที่ร่างกายเราถึง แต่เราปล่อยตัว ไม่ฟิต ลงพุงไปหน่อย”

คำถามคือเราจะหาคนแบบไมเคิล ฟาราเดย์ ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ผู้ค้นพบกระแสไฟฟ้าได้กี่คน เราจะหาคนแบบ เซอร์ไอแซก นิวตัน ซึ่งค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกได้กี่คน คนอื่นนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิลลูกแอปเปิลร่วงใส่หัวไม่เห็นจะคิดอะไรได้ มันขึ้นอยู่กับวิธีการสอน การผลิตคน การให้การศึกษา และปลูกฝังทัศนคติไม่สามารถต่อยอดได้ถ้าไม่มีราก

“เราไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้ามีการบริหารจัดการดี นโยบายต่อเนื่อง ใช้ศักยภาพของคนให้เต็ม รวมถึงต้องมององค์รวม Holistic เพิ่มคุณภาพของสินค้าและเทคโนโลยีต้องดีขึ้น โสหุ้ยต้องต่ำลง ใช้ทรัพยากรให้เต็มที่ 100% ไม่รั่วไหล การตรวจสอบและความโปร่งใสต้องเพิ่มขึ้น ศรีธนญชัยต้องน้อยลงกว่านี้” ดร.สุรินทร์แสดงความเห็น

การทำวิจัยพื้นฐาน คือ สิ่งที่สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยมองว่า คือ ทางรอด เพราะเป็นการสั่งสมองค์ความรู้ในระดับฐานราก ไม่รู้หรอกว่าจะมีประโยชน์อะไร ขายได้หรือไม่ แต่ก็ต้องทำเพื่อสั่งสมเป็นองค์ความรู้ รวมถึงต้องบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management) ให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการค้นคว้า จัดเก็บ และเข้าถึง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดงานวิจัยชั้นเลิศ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ อย่างที่บอกว่า จะต่อยอดได้ต้องมีราก จะทำงานวิจัยต้องทบทวนวรรณกรรม ดูว่าที่ผ่านมา คนอื่นเขาทำอะไรกันมาบ้างแล้ว

“อย่างเราขายสินค้า เรามีฝีมือ สินค้าเรามีคุณภาพ แต่หน้าที่เราคือ ต่อ เชื่อม ประกอบชิ้นส่วน เราไม่มีแบรนด์ สร้างแบรนด์ไม่เป็น ไม่ได้เป็นผลพวงจากการค้นคว้าวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ต้องสร้างแบรนด์ตัวเองให้ได้ ต้องทำให้ Made in Thailand มีความขลังเท่า Made in Japan” ดร.สุรินทร์กล่าว

4.0 คือ ความแม่นยำ คนไทยต้องเรียนรู้การมี Precision ในชีวิต ผู้ผลิตก็ต้องมี Precision ในการผลิต 4.0 ต้องการคนที่ฉลาดขึ้น โลกบังคับให้เราฉลาดขึ้น 4.0 ไม่ใช่เป้าที่จะต้องไปให้ถึง แต่เป็นกระบวนการที่จะสร้างความพร้อมให้ชีวิต อุตสาหกรรมการศึกษา ยกระดับคุณภาพทั้งหมดขึ้นไป ทุกอย่างต้องวัดได้ ตรวจได้คำนวณได้ Monitor ได้ทุกย่างก้าวของชีวิตต้องแม่นยำขึ้น

4.0 ทุกย่างก้าวต้องแม่นยำขึ้น

ดร.สุรินทร์ วิเคราะห์อีกว่า 4.0 จะเปลี่ยนโลกไป อุตสาหกรรมบางอย่างจะหายไป บางอย่างจะเกิดใหม่ขึ้นมา เราไม่มีทางเลือก เราต้องเปลี่ยนแปลง ต้องปฏิรูปการผลิต คนที่อยู่ในระบบที่อาจจะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา มี AI มีโรบอทส์ สถาบันของเราทำหน้าที่ตั้งโจทย์และหาคำตอบจะเสริมทักษะคนที่กำลังจะว่างงานได้อย่างไร หน่วยงานไหนควรรับผิดชอบ กรมพัฒนาแรงงานกรมเดียวทำพอไหม สถาบันหรือหน่วยงานอื่นๆ ควรเข้ามาร่วมทำหรือไม่ การพัฒนาฝีมือแรงงานควรขึ้นกับสภาพัฒน์ฯ ด้วยหรือไม่ แล้วการพัฒนาฝีมือแรงงาน ยกระดับทักษะต่างๆ เรียนแค่ช่างพอหรือ

“4.0 คือ ความแม่นยำ คนไทยต้องเรียนรู้การมี Precision ในชีวิต ผู้ผลิตก็ต้องมี Precision ในการผลิต 4.0 ต้องการคนที่ฉลาดขึ้น โลกบังคับให้เราฉลาดขึ้น 4.0 ไม่ใช่เป้าที่จะต้องไปให้ถึง แต่เป็นกระบวนการที่จะสร้างความพร้อมให้ชีวิต อุตสาหกรรม การศึกษา ยกระดับคุณภาพทั้งหมดขึ้นไป ทุกอย่างต้องวัดได้ ตรวจได้ คำนวณได้ Monitor ได้ ทุกย่างก้าวของชีวิตต้องแม่นยำขึ้น

อาหาร การรักษาพยาบาล การท่องเที่ยวและการบริการ เป็นเรื่องที่คนไทยมีข้อได้เปรียบ มีศักยภาพ เราอาจต่อยอดไปได้อีกไกลจากการค้นคว้าวิจัยเรื่อง Biotech พันธุ์พืช การเกษตร การแปรรูปอาหาร สิ่งเหล่านี้เป็นแบรนด์ไทยแลนด์ เมื่อชาวโลกนึกถึงอาหาร ยา การท่องเที่ยวและบริการ ต้องนึกถึงไทย เราต้องสร้างให้เป็นมวลรวมจนเกิดเป็นโมเมนตัมให้ได้” ดร.สุรินทร์ให้ความเห็น

ดร.สุรินทร์ ทิ้งท้ายว่า การเป็น OEM ก็เหมือนยืมจมูกผู้อื่นหายใจ ไปต่อท่อออกซิเจนของคนอื่นมาใช้ เมื่อเราต่อท่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเขามาใช้ หากเขาตัดท่อ ถอดสายเราเมื่อไร เราหายใจไม่ได้ ไม่มีออกซิเจน ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางอย่างที่เป็นอยู่ ทางรอดเดียวคือ ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และประยุกต์ให้ขายได้โดยการสร้างแบรนด์ตัวเองเท่านั้น

หากต้องการเสริมเขี้ยวเล็บให้ประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อขึ้นชกกับรุ่นใหญ่ Heavyweight เราต้องลงทุนลงแรง ต้องฟิตร่างกาย ฝึกซ้อม และลองสนาม ดังที่ ดร.สุรินทร์กล่าวไว้ว่า ความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันของทุกประเทศในยุคนี้ ขึ้นอยู่กับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบกับการบริหารจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น เราไม่เหลือทางเลือกอื่นแล้ว

วันนี้ ประเทศที่ออกวิ่งพร้อมกับเราเมื่อหลายสิบปีก่อน แซงหน้าเราไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า และหากทุกภาคส่วนยังไม่รีบขยับตัวกันวันนี้ พรุ่งนี้… ประเทศเพื่อนบ้านอาจแซงเราไปแบบไม่เห็นฝุ่นก็เป็นได้

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924