ร้อนแรงกันตั้งแต่ต้นปีสำหรับนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ประกอบกับต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ องค์กรต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน สิ่งที่องค์กรต้องทำในตอนนี้ คือ เตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ เหล่านี้ให้กลายเป็นโอกาส และความเข้มแข็ง
“ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อน คำว่า องค์กรหรือ Organization มาจากคำว่า Organism แปลว่าสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก และพลัง ฉะนั้นองค์กรก็คือ สิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง การจะทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืนต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ถึงจะฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ ไปได้” เกษมพัฒน์ พานิชลือชาชัย กล่าวไว้ในในการบรรยาย Productivity Talk ประจำเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา
เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นความพร้อม (คน กระบวนการ สินค้าและบริการ)
“โอกาส” กับ “วิกฤต” ต่างกันที่ความพร้อม โอกาสจะมาเมื่อพร้อมเท่านั้น ทั้งนี้ ความพร้อมต้องใช้เวลา ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อรับมือกับวิกฤต แล้วเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ใครที่มีประสบการณ์หรือเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องวิกฤต สิ่งแรกที่รู้สึกคือ ไม่อยากให้เกิดเลย อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินชีวิตขององค์กรหรือในชีวิตส่วนตัวก็คงหนีไม่พ้น ยากที่จะหลบเลี่ยงได้
วิกฤต คือ ความไม่รู้ ทุกคนล้วนมีสามัญสำนึกทั้งนั้น รู้ว่าสิ่งไหนดีก็จะทำ สิ่งไหนไม่ดีจะไม่ทำ เช่น ทำอย่างนี้โดนไล่ออกแน่ เสียหายแน่ แล้วก็จะไม่ทำ ฉะนั้นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นความพร้อมคือ การเปลี่ยนความไม่รู้ ให้รู้ และ รู้อย่างรอบด้าน การทำธุรกิจก็เช่นกัน จำเป็นต้องมีความรู้หลายๆ ด้าน โดยการใช้หลักบูรณาการแบบ 5P ประกอบด้วย Partnership, People, Process, Product และ Profit คือ เมื่อองค์กรมีหุ้นส่วนที่ดี และมีคนมาบริหารกระบวนการได้ดี จะทำให้ได้สินค้าหรือบริการที่ดีด้วย ส่งผลให้มีลูกค้ามากขึ้น ผลตอบแทนก็จะตามมา และที่สำคัญคือ กำไร แต่หากทำ 4P แรกดีมาตลอดแต่ไม่มีผลกำไร องค์กรก็อยู่ไม่ได้ เพราะกำไรคือ สิ่งที่หล่อเลี้ยงองค์กร
P ที่สำคัญมากที่สุดในยุคนี้คือ People เพราะคนคือ ทรัพย์สินที่มีค่าขององค์กร และคนเป็นเพียงทรัพย์สมบัติเดียวที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องจักร หรือทรัพย์สินอื่นๆ ขององค์กรเมื่อใช้แล้วมูลค่าจะยิ่งลดลง เช่น องค์กรรับพนักงาน ที่จบใหม่เข้าทำงาน ให้เงินเดือน 15,000 บาท ภายใน 3 ปีองค์กรสามารถทำให้พนักงานคนนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ด้วยการให้ความรู้ เสริมทักษะ จนความสามารถดังกล่าวสะท้อนกลับมาเป็นผลกำไรให้องค์กร หากมีกระบวนการในการพัฒนาที่ดี แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นจุดอ่อนสำหรับคนไทย เพราะขาดความเชื่อเรื่อง “คน”
สิ่งที่จะทำให้คนในองค์กรร่วมมือ องค์กรต้องเชื่อในคุณค่าของพนักงาน และพนักงานต้องเชื่อในคุณค่าของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่นำไปสู่สิ่งที่องค์กรต้องการ (Believe to Behave to Become) นั่นคือ เกิดเป็น “องค์กรแห่งความสุข” ที่ทั้งองค์กร และพนักงานได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ค้นหาตัวตน แล้วสร้างความแตกต่าง
การอยู่บนโลกธุรกิจปัจจุบัน องค์กรต้องค้นหาตนเองว่าสิ่งใดคือ จุดเด่น และลูกค้าต้องพึ่งพา แล้วนำจุดเด่นนั้นมาสร้างให้สินค้า/บริการเกิดความเข้มแข็ง คิดค้นทำสิ่งใหม่ๆ ตลอด และทุกครั้งที่ทำต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งสิ่งแรกที่องค์กรต้องทำคือ ปรับแนวคิดของตนเอง และทำให้ลูกค้าออกจากกรอบ ความคิดเดิม ในขณะเดียวกัน องค์กรต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ด้วย และที่สำคัญต้องกลับมาค้นหาตัวตนของตัวเองว่ามีดีอะไร เชื่อมั่นในตนเองไม่ประเมินว่าต่ำต้อยกว่าคู่แข่ง ซึ่งผู้บริหารแต่ละองค์กรต้องมองเห็นและเชื่อในสิ่งนี้เช่นกัน ฉะนั้นด้วยภาวะทางเศรษฐกิจหากไม่มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคน องค์กร สินค้า และบริการ องค์กรต้องย่ำอยู่กับที่
ในปี พ.ศ. 2556 นี้ก็ขึ้นอยู่ว่าองค์กรจะเลือกวิกฤต หรือโอกาส แล้วแต่ว่าต้องการให้เป็นแบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องบริหารคน เพราะ Organization มาจาก Organism ถ้าบริหารคนผิดก็จะผิดหมด แต่ถ้าบริหารคนถูก องค์กรย่อมได้รับผลลัพธ์ที่สูงกว่าเท่าตัว ทั้งในแง่ผลิตภาพ (Productivity) ของพนักงานสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง คนมีความสุขในการทำงาน ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้องค์กรมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป