Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

กังหันลมไทย ผลิตไฟฟ้า พร้อมพัฒนาท้องถิ่น

…ใครว่าประเทศไทยกระแสลมโดยเฉลี่ยอ่อนเกินไป ไม่เหมาะสำหรับกังหันลมผลิตไฟฟ้า คงต้องกลับคำพูดใหม่ หรือ เขียนตำราสอนนักศึกษาใหม่กันแล้ว แม้แต่กระทรวงพลังงานก็แทบจะติดเบรกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไม่ทัน เนื่องจากมีนักลงทุนขอขายไฟฟ้าจากกังหันลมเกินเป้าหมาย AEDP อย่างรวดเร็ว โดยนักลงทุนเหล่านี้ล้วนแต่ได้ลงทุนศึกษากระแสลมมานับปี และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปแล้วมากมาย ต้องสูญเปล่ากับการลงทุนล่วงหน้า เข้ากับตำรา ‘การลงทุนมีความเสี่ยง (นโยบายรัฐ)’

กังหันลมไทย ผลิตไฟฟ้า พร้อมพัฒนาท้องถิ่น

จะขอย้อนหลังความเป็นมาตามประสาคนพลังงานทดแทนยุคแรกๆ เมื่อปี พ.ศ. 2550 กาลครั้งนั้นรัฐรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมในอัตรา 2.50 บาท/หน่วย แบบคงที่โดยบวกกับราคาไฟฐานในสมัยนั้น ราว 2 บาทกว่าๆ ต่อมา วันที่ 9 มีนาคม 2551 กพช. ปรับปรุง Adder แยกพลังงานลมที่มากกว่า 50 kW เป็น 3.50 บาท/หน่วย เป็นเวลา 10 ปี และก็มาปรับอีกครั้งสมัยรัฐบาล คสช. เป็นแบบ FiT กำหนดให้พลังงานลมทุกขนาดได้ FiT 6.06 บาท/หน่วย เป็นเวลา 20 ปี โดยให้อัตราพิเศษกับผู้ที่อยู่ปลายด้ามขวาน (Deep South) อีกหน่วยละ 50 สตางค์ ตามแผน AEDP ซึ่งเป็นแผนที่ปรับตามนโยบายรัฐบาลแต่ละสมัย เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม คือ 1,800 MW จนถึง พ.ศ. 2564 แล้วจู่ๆ รัฐก็หยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมโดยขาดการแจ้งล่วงหน้า

ดังนั้น พลังงานลมที่ปรากฏในบทความนี้จึงเป็นพลังงานลมรุ่นประวัติศาสตร์ คือ สมัยเก่าแก่ที่เป็น Adder สำหรับพลังงานลมจะไม่มีการปรับการรับซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นญาติสนิทกับพลังงานลม ทั้งพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานลมต่างถูกกล่าวหาว่าเป็นพลังงานทดแทนที่ไม่มั่นคง ‘ฝนตก แดดก็ไม่ออก’ ‘ลมเพ ลมพัด’ รัฐจึงมีการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) โดยการลดภาษีนำเข้าลงแต่ก็ยังสูงอยู่ นอกจากนี้ รัฐยังได้ส่งเสริมให้ผลิตเองในประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวของพลังงานทดแทนในอนาคต

คุณโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์

คุณโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

“จากเป้าหมายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของกระทรวงพลังงาน จำนวน 1,800 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2564 ปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่เริ่มดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ แล้วกว่า 530 เมกะวัตต์ โดยได้เลือกใช้เทคโนโลยีกังหันลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เหมาะสมกับพื้นที่ศักยภาพพลังงานลมที่มีความเร็วลมเฉลี่ย 5-7 เมตรต่อวินาที ซึ่งเหมาะกับลมในประเทศไทยทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีศักยภาพพลังงานลมจะอยู่บริเวณที่ราบสูงตอนกลางของประเทศและริมชายฝั่งทะเลที่รับอิทธิพลจากลมมรสุมพัดพาดผ่านตลอดทั้งปี พบว่ามีความเร็วลมเฉลี่ยยังค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคตอาจต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกังหันลมร่วมกับระบบการกักเก็บพลังงาน เพื่อทำให้การส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีเสถียรภาพและมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น หากได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในด้านการส่งเสริมการลงทุน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการนำเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงานที่ได้รับการยอมรับ และมีมาตรฐานมาใช้ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าของกังหันลม อีกทั้ง ภาครัฐควรมีการกำหนดกลไกด้านราคารับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง จึงจะทำให้เป็นการพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคุ้มค่าต่อการลงทุน สำหรับบริษัทกันกุลฯ เอง ได้มีโครงการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในประเทศเมียนมา จำนวน 25 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น และกำลังพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในประเทศเมียนมาประมาณ 1,000 เมกะวัตต์”

พลังงานลมอาจเป็นม้านอกสายตาของนักปั่นหุ้น และเกือบจะถูกรัฐบาลไทยลืมไปแล้ว จึงต้องหยิบยกพลังงานลมอันมีคุณค่าเหนือความเป็นพลังงานทดแทนในหลายประเทศ ใครที่คิดว่าพลังงานทดแทนเป็นเพียงขุมทรัพย์ที่ทำให้ภาคเอกชนร่ำรวยเท่านั้น… ควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่า พลังงานลมมิได้สร้างความร่ำรวยให้ผู้ประกอบการอย่างอู้ฟู่อย่างที่คิด แต่สิ่งที่ประเทศไทยได้มาพร้อมกับกังหันลมผลิตไฟฟ้า ก็คือ การพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้ง ยังมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าของรัฐ รอบบริเวณที่ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าตลอดอายุโครงการ นอกจากนี้ ทุ่งกังหันลม (Wind Farm) ยังมีถนนหนทางสำหรับชาวสวนชาวไร่ให้ขนส่งพืชผลออกสู่ตลาดได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และอีกมากมายที่เป็นผลพลอยได้จากการลงทุนพัฒนาพื้นที่ด้วยการลงทุนทั้ง 100% ของผู้ประกอบการ จากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมจำนวน 20 รายเป็นของภาครัฐ 6 ราย และของเอกชน 14 ราย เราจะขอยกตัวอย่าง TOP 5 ภาคเอกชน (ที่ไม่ใช่ 5 เสือ) ที่ช่วยรัฐบาลลงทุนพัฒนาชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในปัจจุบัน ได้แก่

  1. บจก. เฟิร์ส โคราช วินด์ (เวสต์ ห้วยบง 3) กำลังการผลิตติดตั้ง 103.5 MW
  2. บจก. เค.อาร์.ทู. กำลังการผลิตติดตั้ง 103.5 MW
  3. บจก. ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม (โครงการชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม) กำลังการผลิตติดตั้ง 80 MW
  4. บจก. วะตะแบก วินด์ กำลังการผลิตติดตั้ง 62.1 MW
  5. บจก. เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ กำลังการผลิตติดตั้ง 60 MW

และเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สปท. ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ของบริษัท เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ณ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พบว่าถนนเข้าสู่เขาค้อวินด์ฯ สะดวกปลอดภัยและทิวทัศน์สวยงาม ผ่านทิวเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 500 เมตร จึงมีอากาศดีตลอดปี

ที่ ชื่อโครงการ จังหวัด วันที่ COD กำลังการผลิตติดตั้ง (MW)
1 บจก. เฟิร์ส โคราช วินด์ (เวสต์ ห้วยบง 3) นครราชสีมา 14-พ.ย.-55 103.5
2 บจก. เค.อาร์.ทู. นครราชสีมา 8-ก.พ.-56 103.5
3 กังหันลมลำตะคอง (Egat) นครราชสีมา 1-เม.ย.-52 2.5
4 บจก.ไทยสิงค์ (โครงการ 2) นครราชสีมา 3-มิ.ย.-52 0.05
5 บจก.พัฒนาพลังงานลม (ซับพลูวินด์ฟาร์ม 2) นครราชสีมา 17-มี.ค.-59 2
6 บจก.พัฒนาพลังงานลม (ซับพลูวินด์ฟาร์ม 1) นครราชสีมา 17-มี.ค.-59 8
7 บจก.พัฒนาพลังงานลม (โครงการวายุวินด์ฟาร์ม) นครราชสีมา 29-ธ.ค.-59 50
8 บจก.เทพพนา วินด์ฟาร์ม (วะตะแบก2) ชัยภูมิ 18-ก.ค.-56 7.5
9 บจก. ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม (โครงการชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม) ชัยภูมิ 16-ธ.ค.-59 80
10 บจก. วะตะแบก วินด์ ชัยภูมิ 24-ธ.ค.-59 62.1
11 บจก. เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ เพชรบูรณ์ 5-ส.ค.-59 60
12 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นครศรีธรรมราช 24-ม.ค.-56 1.5
13 โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เพชรบุรี 28-ต.ค.-52 0.05
14 พพ. โครงการหัวไทร นครศรีธรรมราช 15-ธ.ค.-51 0.25
15 บจก.สมุทร กรีน เอนเนอจี สมุทรสาคร 16-ม.ค.-58 0.92
16 กฟภ.เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี ปี 2553 0.25
17 กฟภ.อ.สทิงพระ สงขลา ปี 2554 1.5
18 กฟผ.แหลมพรหมเทพ ภูเก็ต ปี 2539 0.15
19 บจก.อินเตอร์ ฟารอีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล นครศรีธรรมราช 6-พ.ย.-58 10
20 บจก. อีเอ วินด์ หาดกังหัน 3 จำกัด (โครงการ 1) สงขลา 3-มี.ค.-60 36.8

เขาค้อวินด์ฯ มีการขายเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นตามที่เป็นข่าวนั้น ปัจจุบันคนในกลุ่ม CP ถือหุ้นกว่า 80% มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5,200 ล้านบาท เป็นค่าพัฒนาโครงการกว่า 10% คือ 590 ล้านบาท ซึ่งค่อนข้างสูง กำลังผลิตติดตั้ง 60 MW ประกอบด้วยกังหันลม 24 ต้น กำลังการผลิตต้นละ 2.5 MW เขาค้อมีความเร็วลมเฉลี่ยค่อนข้างดี คือ 5.6 เมตรต่อวินาที คงไม่ต้องถามผู้ประกอบการว่า กว่าจะฝ่าฟันมาถึงวันนี้ ยากง่ายแค่ไหน…? ปัจจุบันหากนักลงทุน คิดจะพัฒนาโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้า บอกได้คำเดียวว่า ยากส์ สาเหตุเนื่องจากหน่วยงานทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมต่างก็ร่างกฎระเบียบมาเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เส้นทางสู่ความสำเร็จด้านพลังงานทดแทนในเมืองไทยที่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ถนนทุกสายอาจเต็มไปด้วยตะปูเรือใบก็ว่าได้ สำหรับเป้าหมาย AEDP ของพลังงานลมในปี พ.ศ. 2579 ตั้งไว้ถึง 3,002 MW ยังมีที่ว่างสำหรับผู้พร้อมรับความเสี่ยงเสมอ เรามาลองฟังความคิดเห็นในมุมของผู้ประกอบการด้านนี้กันบ้าง

ดร.สุเมธ สุทธภักติ

ดร.สุเมธ สุทธภักติ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“แผน AEDP 2015 กำหนดเป้าการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม ปัจจุบันมีการผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าระบบราว 532.58 MW และมีการหยุดดำเนินการรับซื้อมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ภาครัฐเองได้ทุ่มงบประมาณมหาศาล ผ่านโครงการนำร่องและงานวิจัยศักยภาพลมเพื่อส่งเสริมการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาสำเร็จ Merit Order ที่ใช้จึงน่าจะคิดเพื่อการทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบมากกว่าการเปิดรับซื้อ หากเป็นเช่นนี้ เอกชนก็สามารถวางแผนได้ รู้ระยะเวลาชัดเจน ภาครัฐสามารถบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าจากลมในขณะนี้ ถึงแม้ว่าพลังงานลมได้รับการจัดอันดับให้อยู่ลำดับสุดท้ายในการเปิดรับซื้อ

เป้าหมายที่ตั้งไว้กับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาศึกษาโครงการนั้นไม่ง่าย การแสวงหาพื้นที่ศักยภาพใหม่ๆ การตรวจวัดค่าลม การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การขออนุญาตต่างๆ ล้วนแล้วแต่จะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น ผลกระทบต่อค่าไฟจากการรับซื้ออาจจะเป็นประเด็นที่หยิบยกขึ้นหารือในหลายเวที แต่ควรเข้าใจว่าเป็นสัดส่วนที่ภาครัฐได้จัดสรรไว้แต่เดิมตามแผน และมีนโยบายรองรับ สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวล คือ ความต่อเนื่องในการเปิดรับซื้อซึ่งมีความจำเป็น ส่วนระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นส่วนที่การไฟฟ้าฯ สามารถหารือกับผู้ประกอบการได้”

ข้อมูลพื้นฐานของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

ชื่อโครงการ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ
 ที่ตั้งโครงการ ต.เขาค้อ และ ต.ทุ่งสมอ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
พื้นที่ใช้งานโครงการ 250 ไร่
(อาณาเขตโครงการ 2,200 ไร่)
 ผู้พัฒนาโครงการ บริษัท เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ จำกัด
 กำลังการผลิต ติดตั้ง 60 MW
 กังหันลมผลิตไฟฟ้า ผลิตโดยบริษัท GE จากสหรัฐอเมริกา จำนวน 24 ต้น
กำลังการผลิตต่อต้น 2.5 MW
ความสูงจากพื้นถึงจุดศูนย์กลางใบพัด 110 ม.
ใบพัดยาว
 ความเร็วลมเฉลี่ย  5.6 เมตร/วินาที
 พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปี
(Annual Energy Production)
 140 ล้านหน่วย (พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด)
110 ล้านหน่วย (หลังจากหักค่าสูญเสีย)
 ผู้รับซื้อไฟฟ้า  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้สัญญา
ซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี ตามระเบียบผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก…
SPP Non-Firm

เรื่องของพลังงานทดแทน เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนลงทุนและรองรับความเสี่ยงแทนภาครัฐ พลังงานทดแทนเป็นทั้งสาธารณูปโภคและการลงทุนช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชน ช่วยปรับสมดุลให้ราคาพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยรวม รัฐจึงพึงส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยอำนวยความสะดวกด้านการออกใบอนุญาตให้รวดเร็ว ลดขั้นตอน และลดหน่วยงานลง โดยหันไปเพิ่มการตรวจติดตามโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้เสนอไว้ประเทศไทยจะได้ 4.0 ตามที่รัฐบาลวาดฝันไว้

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน

EXECUTIVE SUMMARY

In 2007, government accepted to buy electricity generated from wind power in the rate of 2.50 baht/unit (Fixed Rate) plus base tariff back then approximately over 2 baht. Later on 9 March 2008, Energy Policy and Planning Office (EPPO) adjusted to Adder rate to separate wind power exceeding 50 kW in the rate of 3.50 baht for 10 years, and adjusted once again in the National Council for Peace and Order (NCPO)’s government to FiT rate to designate every size of wind with the rate of 6.06 baht for 20 years. In addition, special rate is given to those who live in the Deep South of Thailand for another 50 satang per unit according to AEDP plan, which is the plan adjusted in accordance to each specific government’s policy aimed to purchase electricity generated from wind power up to 1,800 MW until 2021, then suddenly government had stopped purchasing electricity generated from wind power without any notice in advance.

Therefore, wind power appeared in this article shall be based on Adder rate. For wind power, there will be no continuous purchasing adjustment like solar cell energy. However, both solar cell energy and wind power were blamed that are the unsteady renewable energies so the government started to promote the use of Energy Storage by reducing down import tax, but the rate is still high anyhow. Besides, government also promoted domestic generating to take up the expansion of renewable energy in the future.

However, renewable energy is what private investor sector needs to take up the risk rather than the government. In addition, renewable energy is considered as infrastructure and investment that help establishing community economy, balancing out agricultural product prices as well as promoting the country’s energy stability in overall. Thus, government should promote renewable energy by giving convenience for obtaining license, reducing down steps and number of state agencies, then adding more project monitoring that are proceeding based on what they were proposed so that Thailand will successfully reach to 4.0 in accordance to the dream of government.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924