Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

กสอ.เดินหน้าปั้นหลักสูตรเดอะจีเนียสเกษตรอุตสาหกรรม

กสอ. ปั้นหลักสูตร Genius the Creation เสริมศักยภาพเกษตรอุตสาหกรรมทรานฟอร์ม   สร้างธุรกิจโมเดลใหม่ ปรับรูปแบบธุรกิจ โดยหลักสูตรฯ โค้ชและผู้ประกอบการออกแบบได้ด้วยตัวเอง

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  เปิดเผยว่า  ขณะนี้ กสอ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ จีเนียส เดอะ ครีเอชั่น (Genius the Creation) ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษตอบโจทย์นโยบายเร่งด่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่เป็นหลักสูตรภายใต้ Genius Academy ที่ กสอ. ได้การดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง 3-4 ปี มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ใน 3 ด้านอันได้แก่  (1) เศรษฐกิจฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น (2) เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น (3) เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งในชุมชน 

 “โครงการนี้ถือเป็นโครงการหนึ่งในหลักสูตร Genius Academy มีจุดเด่นในการใช้อัจฉริยะโค้ชมาสอนให้ผู้ประกอบการเป็นอัจฉริยะ โดยอัจฉริยะโค้ชที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เชิญมาโค้ชผู้ประกอบการล้วนเป็นโค้ชที่มีการยอมรับในธุรกิจนั้นๆ มีความสำเร็จในด้านนั้นที่แท้จริง เพื่อเป็นทางลัดของผู้ประกอบการในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าโครงการมีจำนวนหลักร้อย ผ่านกระบวนการคัดมาติวเข้มให้เหลือ 100 ราย และมาถึงวันนี้ คือ ห้วงที่สองของการอบรม เหลือเพียง 42 รายจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้ประกอบการ (1) แปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม (2) เกษตรอินทรีย์ (3) เกษตรท่องเที่ยว” นายณัฐพลกล่าว

ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการ Genius the Creation มุ่งเน้น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 

1.การพัฒนาในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมมืออาชีพ

2. การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจและสอดรับกับความต้องการของตลาด

3.วิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ ที่จะเฟ้นหาศักยภาพภายในตัวผู้ประกอบการออกมาเป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมภายหลังจากการผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ผ่านโค้ชผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่ประสบความสำเร็จ

“ในวันนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้นำผู้ประกอบการทั้ง 42 ราย มาเรียนรู้การพัฒนากลยุทธ์เกษตรอุตสาหกรรมจากหนึ่งในอัจฉริยะโค้ชของโครงการฯ คือ คุณโชค บูลกูล เจ้าของฟาร์มโชคชัย ผ่านมุมมองในการเรียนรู้จากคุณโชคฯ ครั้งนี้ ที่ได้เน้นในเรื่อง

(1) การประกอบเกษตรอุตสาหกรรมต้องเท่ห์ (Brand Image) เค้าต้องมีความภูมิใจในการเป็นเกษตรอุตสาหกรรม

(2) เกษตรคุณภาพ (Quality Agriculture) จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่หายากเมื่อมีความต้องการซื้อ ผู้ซื้อต้องสั่งจอง ทำให้เราสามารถกำหนดราคาเหนือราคาตลาดได้

(3) เกษตรแม่นยำสูง (Precision Farm) เป็นการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการควบคุมเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิต โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์ ดาวเทียม และโดรน มาบริหารจัดการในไร่ฟาร์มเพื่อวิเคราะห์แปลงผลผลิตในแปลงเกษตรประสิทธิภาพสูง และการใช้เทคโนโลยีควบคุมสภาพอากาศ แสงสว่าง การให้อาหาร การฆ่าเชื้อ ในปศุสัตว์” นายณัฐพลกล่าว

ภายหลังจากวันนี้ จะมีการพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง 42 รายอย่างเข้มข้น และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การตลาดทั้ง 42 ราย และจะคัดให้เหลือ 10 ราย ที่โครงการ Genius the Creation จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ฟรี และจะต่อยอดคัดเลือกให้เหลือ 4 กิจการสุดยอดให้เป็น Best of the Best เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นโมเดลในการขยายผลไปยังเกษตรอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากซูปเปอร์โค้ช-วิทยากร ชื่อดังระดับโลกในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ นอกเหนือจากซุปเปอร์โค้ชชั้นนำด้านฟาร์มเกษตร โค้ชโชค – โชค บูลกูล แห่งฟาร์มโชคชัย แล้วยังมี โค้ชยอด-ฉัตรชัย ระเบียบธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยอด คอร์ปอเรชั่น จำกัด นักวางวิสัยทัศน์ที่ได้รับการยอมรับ และโค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมท์ ดีไซน์ จำกัด สุดยอดนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับด้วยรางวัลระดับโลก การันตีถึง 78 รางวัล ที่จะให้ความรู้ในหลักสูตรดังกล่าวด้วย

 “โครงการนี้ถือเป็นหลักสูตรแรกของธุรกิจการเกษตรไทยที่มุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตรของไทยให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง  ด้วยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมระดับพรีเมียมที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเป็นต้นแบบการพัฒนาโดยดึงความคิดสร้างสรรค์ (Creative Model) นำในการพัฒนาธุรกิจ ผสมผสานกับการหน้าที่การใช้งาน (Functional Model) ซึ่งเกษตรอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนาจากโครงการนี้ จะเป็นหัวขบวนในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทาน ให้ธุรกิจเกษตรของไทยอยู่รอดและมีความยั่งยืน  ตามแนวนโยบาย ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)” นายณัฐพลกล่าว

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924