Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

กสอ. แนะ 5 อุตสาหกรรมครัวเรือน ปั๊มรายได้ที่บ้าน สู้โควิด-19

กสอ. ติดอาวุธเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ปั๊มรายได้สู้พิษโควิด-19 ด้วย 5 อุตสาหกรรมครัวเรือน ครอบคลุมประเภทสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม แฟชั่นและของใช้ หลังพบสถานประกอบการ 35,068 แห่งและผู้ประกันตน 644,136 คน ขาดรายได้จากการปิดบริการชั่วคราวพร้อมแนะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยกระจายสินค้า 

นายณัฐพลรังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีสถานประกอบการและผู้ประกันตนได้รับความเสียหายด้านรายได้และว่างเว้นจากการทำงานจากการปิดบริการชั่วคราว โดยครอบคลุมสถานประกอบการ 35,068แห่ง และผู้ประกันตน 644,136 คน (ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม ณ เดือนมีนาคม2563) ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนและผู้ว่างงานอยู่รอด ด้วยภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) วางแนวทางปั้นงานสร้างรายได้เยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ สามารถสร้างอาชีพทำเงินได้ด้วย 5อุตสาหกรรมครัวเรือน ครอบคลุมประเภทสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม แฟชั่น และของใช้ภายใต้แนวคิด “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

– กลุ่มสมุนไพรแปรรูป การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก แต่อย่างไรก็ดียังนับเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยซึ่งจากปีที่ผ่านมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 18,200 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าตลาดดังกล่าว จะมีโอกาสเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท (ที่มา :ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) จึงถือเป็นหนึ่งในธุรกิจครัวเรือนที่น่าสนใจด้วยการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอัตลักษณ์อย่างการนำพืชสมุนไพร หรือพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลักมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล อาทิ สบู่เหลวล้างมือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย แชมพู และอาหารเสริมสุขภาพ ฟ้าทะลายโจรน้ำขิงสำเร็จรูป อย่างไรก็ดี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ควรสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นและตราสินค้าให้มีความแตกต่าง เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

– กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร     แม้ปัจจุบันภาคการเกษตรยังคงได้รับผลกระทบหนักจากข้อจำกัดด้านการกระจายผลผลิตและการส่งออกอีกทั้งปัญหาราคาตกต่ำจากสินค้าล้นตลาด ดังนั้นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่สามารถเก็บรักษาได้นานในอุณหภูมิปกติ และคงรสชาติ สี กลิ่นเดิมของอาหารนั้น ๆจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สร้างรายได้แก่เกษตรและผู้ประกอบการ อาทิการใช้เทคโนโลยีฟรีซดราย (Freeze Drying) ในเมนูอาหาร ผัก หรือผลไม้และเทคโนโลยีอบแห้ง โดยในปี พ.ศ. 2563 กสอ. เตรียมงบประมาณ 5 ล้านบาทสำหรับโครงการเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแบบครบวงจรเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ 160 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร  5 ผลิตภัณฑ์

– กลุ่มแปรรูปผลไม้ ในช่วงที่คนไทยตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของโรคติดโควิด-19หนึ่งในวิธีลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีดังนั้น ธุรกิจในครัวเรือน ที่สามารถดำเนินการได้และเป็นการสร้างรายได้เสริมด้วยการนำผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงนำมาแปรรูปในน้ำผลไม้พร้อมดื่ม อาทิ น้ำส้มน้ำฝรั่ง น้ำกีวี น้ำสตรอเบอร์รี่ น้ำมะนาว ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสีล้วนเป็นเครื่องดื่มเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันทั้งสิ้นสำหรับกลุ่มธุรกิจแปรรูปผลไม้ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยในปี 2563กสอ.เตรียมงบประมาณเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปกว่า 28 ล้านบาทเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ 1,400 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป 200 ผลิตภัณฑ์

– กลุ่มสิ่งทอ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดผู้ประกอบการสิ่งทอสามารถต่อยอดวัตถุดิบผ้าอย่าง “ผ้ามัสลิน” สู่หน้ากากผ้าได้เนื่องจากผ้าดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการป้องกันละอองฝอยได้ดี (ที่มา:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) นอกจากนี้ ด้วยกระแสของผลิตภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติที่ได้รับความนิยมและเป็นเทรนด์สิ่งทอในอนาคตจึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการสิ่งทอในการพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว อาทิ‘ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม’ ผ้าทอจากธรรมชาติที่ให้คุณค่าทางวัฒนธรรม‘กระเป๋าแฟชั่นจากเส้นใย’ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร ด้วยความคิดสร้างสรรค์

– กลุ่มงานคราฟต์รักษ์โลก แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยยังไม่คลี่คลายแต่กระแสกรีนมาร์เก็ต (Green Market) ที่เน้นการเลือกใช้วัสดุหรือการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในปีนี้และอีกหลายปีข้างหน้า ดังนั้น อุตสาหกรรมหัตถกรรม สามารถระดมสมองต่อยอดแนวคิดปั้น “วัตถุดิบท้องถิ่น” สู่ “งานคราฟต์รักษ์โลก”ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่แต่คงความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ อาทิ กระเป๋ากระจูดไซส์มินิ ดีไซน์เก๋สำหรับใส่สมาร์ทโฟน หรือหน้ากากอนามัย ฯลฯ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมถือเป็นหนึ่ง ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพสูงและน่าจับตามองโดยปีที่ผ่านมามีมูลค่า ทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.7 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาเป็นช่องทางเสริมเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าในภาวะวิกฤตได้ อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook)ไลน์ (Line) อินสตาแกรม (Instagram) ตลอดจนการขนส่งแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถเรียนรู้บนออนไลน์ไลฟ์สตรีม ภายใต้โครงการ “ปั้น SMEsค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19” จากทาง กสอ.โดยเปิดคอร์สการอบรมหลากหลาย อาทิ การกระตุ้นยอดขายด้วยกูเกิ้ลแอดเวิร์ด (GoogleAdwords) การขายสินค้าผ่านยูทูป (You Tube) และเทคนิคกระตุ้นยอดขายด้วยภาพถ่ายและวีดีโอเพื่อเพิ่มทักษะด้านการตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์ และสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น นายณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924