Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

กสอ. ยกระดับ ผู้ประกอบการ สู่ สมาร์ท SME

กสอ. โชว์ความสำเร็จ “3-Stage Rocket Approach” ยกระดับเอสเอ็มอีไทย สู่การเป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี ชู 600 กิจการ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท ปี 62 เดินหน้าพัฒนาผลักดัน SMEsอีก 600 กิจการ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาจึงจะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้ ซึ่งหลายรายได้หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านการผลิตมากขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพและประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้ทันกับสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถปรับตัวให้เข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว ก้าวทันกับสถานการณ์ดิจิทัลของโลก รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 (Smart SMEs) ผ่านเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาภายใต้นโยบาย 4 Tool 1 Strategy ประกอบด้วย

1. IT เป็นการให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ

2. Automation เป็นการพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต

3. Robot โดยการลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต

4. Innovation เป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและ

อีก 1 Strategy คือ การมุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ Cluster ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการต่อยอดของ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง โดยที่ผ่านมา กสอ. ได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Connected Industries จัดกิจกรรม “3-Stage Rocket Approach” หรือ “จรวด 3 ขั้น โดยนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Internet of Things (IoT) Artificial Intelligence (AI) และ Big Data มาปรับใช้ เพื่อผลักดัน SMEs สู่อุตสาหกรรม 4.0” ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นที่ 1 Visualize Machine คือ การรวบรวมข้อมูลจากเครื่องจักรให้เป็นดิจิทัลและนำมาใช้วิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสอ. กับ บริษัท iSmart Technologies Corporation ผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระบบอัจฉริยะเฝ้าติดตามและตรวจสอบดูแลการทำงานของเครื่องจักร (Machine Monitoring System) เป็นการทำงานผ่านอุปกรณ์ sensor ที่ใช้ติดตั้งเครื่องจักรได้ทั้งแบบเคลื่อนไหวและแบบไม่เคลื่อนไหว ด้วยการจับสัญญาณแสงหรือการเคลื่อนไหวของเครื่องจักร เพื่อนับชิ้นงานที่เครื่องจักรผลิต ซึ่ง sensor ตรวจรับแสง และ sensor แม่เหล็กไฟฟ้า ผ่านเครื่องส่งสัญญาณที่รับการนับจากเครื่องจักรเข้าสู่เครื่องรับสัญญาณเพื่อจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลการทำงานของเครื่องจักรผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรินิคส์

ทั้งนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการทำงานให้ดีขึ้นและแก้ปัญหาได้ทันเวลา โดยในปี พ.ศ. 2561 กสอ. ได้มีการดำเนินการติดตั้งระบบให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 500 กิจการ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 850 ล้านบาท

ขั้นที่ 2 Visualize Craftsmanship คือ การเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของแรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวิเคราะห์การทำงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยในขั้นตอนนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กสอ. กับ บริษัท Toyo Business Solution ผ่าน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระบบอัจฉริยะเฝ้าติดตามและตรวจสอบดูแลการปฏิบัติงานของพนักงาน เป็นการทำงานของระบบซอฟท์แวร์จับการเคลื่อนไหวของคนทำงานด้วยระบบ sensor

โดยการแปลงค่าเป็นรูปภาพเสมือนจริง 3 มิติ เห็นวิธีเคลื่อนไหวการทำงานของคน โดยสามารถเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ปรับปรุงการทำงานของคนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับผู้ที่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ตลอดทั้งศึกษาวิธีการเคลื่อนไหวของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานเพื่อนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการติดตั้งระบบให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 100 กิจการ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากกว่า 20% คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท

ขั้นที่ 3 Lean Automation System Integrator : หรือ LASI Project คือ การพัฒนาโครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ตลอดทั้งการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งระบบ ด้วยการเชื่อมต่อบริษัทอุตสาหกรรมทั้งระบบ ทั้งข้อมูล บุคลากร และเครื่องจักรระหว่างบริษัท และ SMEs เข้าด้วยกัน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กสอ. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากจรวดขั้นที่ 1 และ 2 นำมาต่อยอดเข้าสู่ขั้นที่ 3 หรือ LASI Project ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนทางด้านแรงงานและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 40

นอกจากนี้ ได้มีการนำไปประยุกต์ใช้กับโรงงาน Nippon Kikai Engineering –NKE ซึ่งเป็นโรงงานที่เน้นการพัฒนาระบบการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการนำระบบ Lean Automation ไปใช้สำหรับระบบการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ในครั้งนี้ทำให้สามารถลดการใช้ Robot ในการผลิตได้จาก 2 ตัว เหลือ 1 ตัว และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของ Robot จากเดิมร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 85 ทำให้ Robot ทำงานได้มากขึ้น ลดจำนวนเงินลงทุนได้ถึงร้อยละ 34 ส่งผลถึงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของไลน์การผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 คาดว่าก่อให้เกิดมูลค่ากว่า 1.11 ล้านบาท/ปี ด้านศูนย์ LASI นับเป็นหนึ่งในบริการภายใต้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ITC 4.0 ที่ดำเนินการเพื่อยกระดับให้ SMEs ก้าวเข้าสู่ SMEs 4.0 โดยเร็ว ด้วยหลักการ “หากไม่จำเป็น อย่าเอา Robot & Automation ที่มีมูลค่าสูง ไปทำงานที่ไม่มีมูลค่า” ทำให้เครื่องมือนี้เปรียบเสมือน จรวด 3 ขั้นที่ได้ออกแบบให้เหมาะสมกับ SMEs ไทยที่มีเงินทุนไม่มาก แต่ทำให้ SMEs สามารถพัฒนาองค์ความรู้ ในการประเมินปัญหาของตนเอง หาวิธีการจัดการที่ได้ ประสิทธิภาพสูงสุด และเลือกปรับปรุงให้เกิดความคุ้มค่า อย่างชาญฉลาด

สำหรับในปี พ.ศ. 2562 นี้ กสอ. ได้เตรียมแผนงานในการของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเดินหน้าสานต่อกิจกรรม “3-Stage Rocket Approach” หรือ “จรวด 3 ขั้น โดยการรับสมัคร SMEs ภาคการผลิตทั่วประเทศ เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่จรวดขั้นที่ 1 และ 2 จำนวนไม่น้อยกว่า 500 กิจการ และจรวดขั้นที่ 3 อีกไม่น้อยกว่า 100 กิจการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 45 และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30 และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2,000 ล้านบาท

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924