Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลสำเร็จ คืนชีพซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ผลสำเร็จการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว นำกลับมาเป็นแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และเปิดตัวแบตเตอรี่โซเดียมไอออน  จากแร่เกลือหิน พร้อมโชว์รถต้นแบบครั้งแรกในอาเซียน 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation–Driven Entrepreneurship) ผสมผสานกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามนโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) โดยการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพให้นำกลับมาใช้เป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Second Life Electric Vehicle Batteries for Small Electric Vehicles) 

อัปเดตเทรนด์ Industrial Software 2023 ฝ่าวิกฤติซัพพลายเชน | AutomaTalk#3 : Talk2J

รวมทั้งการพัฒนาต้นแบบรถกอล์ฟไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยมีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นศูนย์กลางการออกแบบ วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

 ทั้งนี้ จากข้อมูลผลการทดสอบพบว่า แบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานเทียบเท่ากับระยะเวลาการรับประกันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี และสำหรับแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อนำลิเทียมและสารประกอบโลหะในแบตเตอรี่กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ทางเลือกที่ไทย โดยนำแร่เกลือหินซึ่งเป็นวัตถุดิบที่พบมากในประเทศไทยนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่โซเดียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และได้นำมาใช้งานได้จริงในจักรยานไฟฟ้าต้นแบบ (E-Bike) นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในอาเซียน

 “ผลงานครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญในการรองรับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถรักษาตำแหน่งการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และก้าวไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นคำตอบที่สำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) ตลอดห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และก่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร เพื่อป้องกันปัญหาขยะและมลพิษจากแบตเตอรี่ในอนาคต ด้วยการหมุนเวียนวัสดุที่ใช้แล้วภายในประเทศอย่างครบวงจรและยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของรัฐบาล” นายสุริยะ กล่าว

 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “Innovation in Raw Materials Conference 2022: Circular Economy Transformation เปลี่ยนผ่านองค์กรสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” จัดโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนที่มีวัตถุดิบตั้งต้นมาจากแร่เกลือหิน จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าแร่เกลือหินที่มีในประเทศและสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งไทยมีปริมาณสำรองแร่สูงถึง 18 ล้านล้านตัน ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทลิเทียมไอออนแบบ NMC (Nickle-Manganese-Cobalt) หรือ Li-ion NMC Batteries ยังสามารถช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะลิเทียมที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนทั่วโลก

โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญ ของ กพร. คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยตอบโจทย์ในการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีตลอดจนนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบัน กพร. ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบ รวมกว่า 78 ชนิด โดยที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจ เฉลี่ยกว่า 300 รายต่อปี สร้างธุรกิจใหม่ (Start-up) และยกระดับผู้ประกอบการ (Level-up) ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปใช้ 150-200 ล้านบาทต่อปี ไม่นับรวมมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924