กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามั่นใจอีก 5 ปีข้างหน้าไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถบัสไฟฟ้า ลดปัญหา PM 2.5 ในระยะยาว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1-1/2563 สืบเนื่องจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 38/2563 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นกลไกในการกำหนดนโยบาย เร่งรัด และติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าประสงค์ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจัง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ในการนี้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) พิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมของการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาดำเนินการให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย รถยนต์ จักรยานยนต์ และ-รถบัสสาธารณะ เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคม และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผน Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อเร่งให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว มีเป้าหมายในปี 2030 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด (ROADMAP : THAILAND SMART MOBILITY 30@30) โดยยานยนต์ไฟฟ้าช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วย เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวจึงมีการจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยแผนระยะสั้น (ปี 2020-2022) จะมีการขับเคลื่อนรถราชการ รถบัสสาธารณะ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ และรถส่วนบุคคลอื่น ๆ กำหนดเป้าหมายจำนวน 60,000 – 110,000 คัน แผนระยะกลาง (ปี 2021-2025) จะเร่งให้มี ECO EV และ Smart City Bus ประมาณ 250,000 คัน และ แผนระยะยาวในปี 2030 จะมียานยนต์ไฟฟ้า 750,000 คัน ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 28 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 110,000 ล้านบาท และมีการจำหน่ายรถยนต์แล้วกว่า 5 ราย ประกอบด้วย Toyota, Honda, Fomm, Benz และ BMW
ในส่วนของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ภาครัฐและเอกชนได้มีการติดตั้งสถานี AC 736 จุด และ DC 69 จุด สำหรับการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ มีผู้ขอส่งเสริมการลงทุนกว่า 11 ราย และได้รับการส่งเสริมการลงทุน 9 ราย แต่ยังพบว่ามีปัญหาอุปสรรค อาทิ รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูงประชาชนไม่สามารถเข้าถึง และจำนวนสถานีประจุไฟฟ้าไม่เพียงพอที่จะรองรับการเดินทางในระยะไกล
ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขจัดอุปสรรค เสริมอาวุธให้ภาคอุตสาหกรรม โดยการจัดทำแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ และราคาถูกออกมาตรการกระตุ้นตลาด สร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา จัดทำมาตรฐาน สร้างศูนย์ทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัย จัดทำแผนการบริหารจัดการซากรถและแบตเตอรี่ใช้แล้ว และการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการต่อยอดการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาค
นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์/ชิ้นส่วน (ICE) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาลจะมีนโยบายให้มีการพัฒนามุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการยังอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน และเป็นกำลังสำคัญให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อไป โดยจะอาศัยกลไกที่สำคัญ คือ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว