กรอ.เร่งแก้ไขปัญหากากของเสียจากการประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดราชบุรี เฟสแรก กว่า 12,000 ตัน เป็นเงินจำนวนกว่า 60 ล้านบาท เพื่อจัดการกากของเสีย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 และดำเนินการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทฯ และนายสมพงษ์ เผยจะยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหาในพื้นที่อื่นต่อไป
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เดินหน้าแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากกลิ่นเหม็นสารเคมีฟุ้งกระจาย รวมถึงปัญหาการปนเปื้อนน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการประกอบกิจการโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด บนพื้นที่มากกว่า 54 ไร่ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 8 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
Honda เปลี่ยนใช้พอร์ตชาร์จ NACS หลังบรรลุข้อตกลงกับ Tesla
โดยที่ผ่านมา กรอ. ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ใช้ข้อกฎหมายเข้าสั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงาน พร้อมเร่งรัดนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ออกไปกำจัด/บำบัดตามหลักวิชาการ เพื่อลดการแพร่กระจายของมลพิษ รวมทั้งบรรเทาความรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด ทำให้ กรอ. ต้องเข้าดำเนินการแทน ด้วยงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ได้รับการจัดสรร จำนวนกว่า 60 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ตามความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี จัดทำเป็น “ราชบุรีโมเดล”
โดยดำเนินโครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด และพื้นที่ของ นายสมพงษ์ ลิ้มพัฒนสกุล ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ผ่านวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในนาม กรอ. เป็นระยะเวลา 210 วัน กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 29 มีนาคม 2567
นายจุลพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 กำจัดของเสียที่ตกค้างบนดินทั้งในและนอกโรงงาน ซึ่งเป็นส่วนที่อันตรายและมีความเร่งด่วนมากที่สุดก่อน โดยจะดำเนินการตรวจสอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และของเสียเคมีวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย รวมจำนวนกว่า 12,000 ตัน เบื้องต้นประเมินว่ามีของตกค้าง อาทิ ถังเปล่า ตัวทำละลายใช้แล้ว น้ำมันปนเปื้อน น้ำปนเปื้อน กากสี เศษผ้าปนเปื้อน ผงเหล็ก วัสดุดูดซับ ตะกอนน้ำมัน
ตลอดจนของเสียตกค้างในบ่อกักเก็บจำนวนมาก และนำไปกำจัด/บำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามกฎหมาย พร้อมค้นหาจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่อยู่ใต้ดินภายในโรงงาน ระยะที่ 2 จะเป็นการกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษใต้ดินที่แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยหลังเสร็จระยะที่ 2 กรอ.จะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากบริษัทฯ และนายสมพงษ์ฯ ต่อไป
“กรอ. ใช้ทุกข้อกฎหมายทั้งหมดที่มีเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และโปร่งใส ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบบริหารจัดการปัญหา ซึ่งจะได้นำไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ขอให้มั่นใจในความรับผิดชอบที่ทุกภาคส่วนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดความเดือดร้อนเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ให้รวดเร็วที่สุด” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว