กรมโรงงานฯ เร่งขนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ตกค้างในโรงงานไมด้า วัน คาดว่าแล้วเสร็จภายในเดือน พฤษภาคม 2565
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรณีโรงงานบริษัท ไมด้า วัน จำกัด เป็นโรงงานผลิตสารเคมี และรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสาธารณะ และมีกากของเสียอันตรายสะสมอยู่ในบริเวณโรงงานเป็นจำนวนมาก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีคำสั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา และได้มีการตรวจสอบภายในพื้นที่โรงงานบริษัท ไมด้า วัน จำกัด (เดิม) พบว่ามีของเสียอุตสาหกรรมตกค้างอยู่ประมาณ 3 – 4 หมื่นตัน
แต่บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการขนย้ายของเสียอุตสาหกรรมดังกล่าวออกไปได้ และได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าพื้นที่การประกอบการเป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสองบริษัทจะรับหน้าที่ในการบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ตกค้างในโรงงานแทนบริษัท ไมด้า วัน จำกัด
เนื่องจากเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาจังหวัดฉะเชิงเทราจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวขึ้น และบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาและมาตรการป้องกันสารเคมีรั่วไหลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวขึ้นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และได้มีการขอความเห็นชอบต่อกรมโรงงานฯ นำกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ออกไปกำจัดหรือบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
โดยเริ่มดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 และจะดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยคาดว่าในระยะที่ 2 จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พฤษภาคม 2565 เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก หากมีการดำเนินการอย่างเร่งรีบอาจก่อให้เกิดปัญหาการรั่วไหล ฝุ่นละออง กลิ่นเหม็น เสียงดัง และแรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปติดตามการดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
- กรอ.วาง 3 มาตรการ แก้ PM2.5
- กรอ. คุมเข้มโรงงานต้องไม่สร้างปัญหา PM 2.5
- กรอ. – จิสด้า – วช. พัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสแกน “โควิด-ภัยพิบัติ”
- กรอ. ตั้งเป้า ปี 65 ดันจดจำนองเครื่องจักร 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ ยังมีการใช้ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-fully Manifest) ซึ่งเป็นระบบการรายงานผลแบบทันทีและตลอดเวลา (Real Time) เพื่อติดตามการขนส่งกากของเสียอันตรายดังกล่าวให้ไปถึงผู้บำบัดหรือกำจัดได้อย่างถูกต้อง และสามารถติดตามตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที