กรอ.คุมเข้มสารโซเดียมไซยาไนด์ เล็งออกหลักเกณฑ์ นำเข้า-ส่งออก-นำผ่าน ใหม่ ปรับขั้นตอน ออกใบอนุญาตเป็นรายครั้ง และให้ ป.ป.ส. ตรวจสอบก่อนการออกใบอนุญาต ย้ำลักลอบนำเข้าโทษหนักคุก 2 ปี
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานฯ ได้ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมศุลกากร กรมการปกครอง สำนักงานกรรมการอาหารและยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อปรับแนวทาง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้า ส่งออก และนำผ่านสารโซเดียมไซยาไนด์ ให้เกิดการบูรณาการร่วมกันให้เป็นระบบและรัดกุมมากขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการลักลอบนำสารโซเดียมไซยาไนด์ไปใช้นอกภาคอุตสาหกรรม
อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและสังคม เนื่องจากได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีข้อมูลเชื่อถือได้ว่าสารโซเดียมไซยาไนด์สามารถนำไปสกัดเป็นสาร P2P (Phenyl-2-Propanone) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดได้
ทั้งนี้ ในการนำเข้า ส่งออก และการนำผ่านสารโซเดียมไซยาไนด์ จะมีการปรับเปลี่ยนการให้อนุญาตใหม่จากเดิมเป็นรายปีจะเปลี่ยนเป็นรายครั้ง โดย กรอ. ต้องแจ้งให้สำนักงาน ป.ป.ส. ตรวจสอบก่อนการอนุญาตทุกครั้ง ขณะเดียวกันการนำเข้าได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งวัตถุประสงค์การนำไปใช้งาน โดยแสดงขั้นตอนการผลิตที่มีการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์อย่างละเอียด ส่วนการส่งออกหรือการนำผ่านกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งข้อมูลผู้ซื้อ ที่อยู่ และวัตถุประสงค์การนำไปใช้
ส่วนกรณีที่ใบอนุญาตยังมีอายุอยู่เดิม ต้องแจ้งข้อเท็จจริงการนำเข้า ส่งออกวัตถุอันตราย (วอ./อก6) ให้หน่วยงานทั้งหมดทราบ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและผู้แทนจาก 7 หน่วยงานข้างต้น เพื่อประสานข้อมูลและดำเนินการออกมาตรการควบคุม ติดตาม และตรวจสอบสารโซเดียมไซยาไนด์รวมถึงสารอื่น ๆ ที่สามารถนำไปผลิตสารตั้งต้นยาเสพติดหรือที่เกี่ยวข้องได้ โดย กรอ. จะแจ้งข้อมูลการออกใบอนุญาตทุกครั้งให้แก่คณะทำงานทราบผ่านทางอีเมล
นอกจากนี้เมื่อ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย (ฉบับที่4) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 27 ตุลาคม 2562 จะกำหนดให้ผู้นำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ในแต่ละครั้งต้องได้รับอนุญาตก่อน และใบนำผ่านมีอายุไม่เกิน 45 วัน และวัตถุอันตรายที่นำผ่านต้องนำออกไปนอกราชอาณาจักรภาย 5 วัน และต้องทำประกันค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีการทำลายหรือจัดการกับวัตถุอันตรายที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้กรมโรงงานเฝ้าระวังการนำเข้า ส่งออก และการนำผ่านสารโซเดียมไซยาไนด์มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งยังได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้จำหน่ายเคมีภัณฑ์ในการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด ส่วนสถานประกอบกิจการโรงงานให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้ากำกับดูแลโรงงานที่มีการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์อย่างใกล้ชิด หากไม่มีการขออนุญาตนำเข้า ส่งออก และการนำผ่านสารโซเดียมไซยาไนด์ตรวจพบจะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายทองชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต นำเข้า-ส่งออก-นำผ่าน ทั้งหมด 8 รายซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่จัดเก็บยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด โดยผู้นำเข้ามีการจำหน่ายให้ผู้ประกอบกิจการชุบโลหะและบริษัทจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ส่วนการแจ้งขอส่งออกและการนำผ่านจะส่งไปยังเหมืองสกัดแร่ทองคำประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปีงบประมาณ 2562 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงปัจจุบัน) กรอ. ได้ออกใบอนุญาตเพียง 1 ใบ เท่านั้น จำนวน 53 ตัน มีการนำเข้าจริงเพียง 17 ตัน และไม่มีการออกใบอนุญาตส่งออกแต่อย่างใด
สำหรับปริมาณการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต พบว่าในปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60- ก.ย. 61) มีปริมาณการนำเข้า 2,845.97 ตัน และส่งออก 426.15 ตัน ปีงบประมาณ 62 (ต.ค.61-15 ก.ค. 62) มีปริมาณนำเข้า 1,182.816 ตัน และส่งออก 106 ตัน ซึ่งปริมาณการนำเข้าและส่งออกดังกล่าวเป็นส่วนที่มีการออกใบอนุญาตเดิมก่อนปีงบประมาณ 62 การส่งออกหรือการนำผ่านประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการส่งไปยังเมียนมาและ สปป.ลาว ขณะที่การนำเข้ามาใช้ในไทยภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการนำมาชุบโลหะและสกัดแร่ทองคำ
“ปัจจุบันการขออนุญาตนำเข้า ส่งออก และนำผ่านมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยได้ถูกปิดไป จึงมีจำนวนการนำเข้าลดลง” นายทองชัย กล่าว