Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

กฟผ. ยืนยันดำเนินการกรณีสัญญาซื้อไฟฟ้าเอกชนถูกต้องตามมติภาครัฐ 

กฟผ. แจงการแสดงสัญญารับซื้อไฟฟ้าเอกชนต่อสาธารณชนต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาในการเปิดเผยเงื่อนไขสำคัญของสัญญาด้วย ส่วนค่าความพร้อมจ่ายปฏิบัติตามแนวทางสากล ยืนยันไร้ผลประโยชน์แอบแฝงจ่ายค่าเชื้อเพลิงแก่ ปตท. ตามจริง

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ กฟผ. เปิดเผยสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนนั้น กฟผ. ขอเรียนว่า กฟผ. ยินดีเปิดเผยข้อมูลหรือรายละเอียดสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ต่อบุคคลภายนอก แต่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาของ กฟผ. ก่อนดำเนินการ

Ajinomoto เพิ่มฐานการผลิตใหม่เพื่อวัสดุที่ใช้ในเซมิคอนดักเตอร์ | FactoryNews ep.53 / 21 Apr 2023

ส่วนสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ได้มีการเปิดเผยต้นแบบสัญญาตั้งแต่แรกจึงสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) 

ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ลดหนี้สาธารณะ และเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าฯ ที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้น ๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ ส่วน กฟผ. เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนดและดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ เท่านั้น 

สำหรับค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment : AP) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ค่าความพร้อมจ่าย เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องลงทุน เช่น ค่าเช่า ค่าอุปกรณ์อะไหล่โรงไฟฟ้า ค่าจ้างเดินเครื่องหรือบำรุงรักษา ค่าประกันภัยโรงไฟฟ้า ฯลฯ ในการดูแลรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมอยู่เสมอ กฟผ. จึงต้องจ่ายค่า AP ที่ถูกกำหนดไว้ตลอดอายุสัญญา โดยจ่ายเป็นรายเดือนตามความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเท่านั้น 

หาก กฟผ. ไม่จ่ายจะเป็นการผิดสัญญาและอาจถูกฟ้องร้องได้ ในทางกลับกันหากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายตามที่กำหนดก็จะถูกปรับตามสัญญาเช่นกัน ทั้งนี้ ค่า AP ของโรงไฟฟ้าเอกชนคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานซึ่งไม่ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จึงไม่ได้ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งขอยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่าย ๆ 

และเห็นภาพชัดเจน คือ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเปรียบเสมือนการทำสัญญาเช่ารถยนต์มาใช้งาน ผู้เช่าจะต้องมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน คือ ค่าเช่ารถที่ต้องจ่ายทุกเดือนไม่ว่าจะมีการใช้รถหรือไม่ก็ตาม เฉกเช่นเดียวกับค่า AP ของโรงไฟฟ้า ส่วนค่าน้ำมันจะจ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทาง การใช้งาน เปรียบได้กับค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่า EP (Energy Payment) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

สำหรับการนำเข้า Spot LNG เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า กฟผ. ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นค่าใช้จ่ายตามจริงที่ถูกเรียกเก็บจาก ปตท. ไม่มีการบวกเพิ่มแต่อย่างใด 

“กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนตามนโยบายภาครัฐ โดยราคาค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อไม่มีการบวกกำไรเพิ่ม และค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นไปตามที่ได้รับการเห็นชอบโดย กกพ. ในช่วงวิกฤตพลังงานที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก กฟผ. มิได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มกำลังเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน ปัจจุบัน กฟผ. ยังมีหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท จากการแบกรับภาระค่าเอฟทีเป็นการชั่วคราวกว่า 1.5 แสนล้านบาท”

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924