กฟผ. จับมือ กระทรวงการคลัง และ ธปท. ลงนาม MOU เปิดประมูลพันธบัตรที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ผ่านระบบ e-Bidding ครั้งแรกของรัฐวิสาหกิจไทย
นายภัทรกฤช เตชะศิกานต์ รองผู้ว่าการการเงินและบัญชี (CFO) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายหลัง เป็นประธาน ลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการออกจำหน่ายตราสารหนี้ของ กฟผ. โดยวิธีการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) และบันทึกความตกลงว่าด้วยการเป็นนายทะเบียนและตัวแทนการจ่ายเงินตราสารหนี้ ว่า ตามที่ กฟผ. มีแผนการลงทุนโครงการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (แผน PDP 2018) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ซึ่งมีวงเงินลงทุนในช่วง 10 ปี ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า รวมประมาณ 6 แสนล้านบาท
และเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ครม. ได้มีมติอนุมัติแผนการจัดหาเงินกู้ในประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2562 ของ กฟผ. วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนโครงการลงทุน นั้น กฟผ. ได้หารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงินให้เป็นไปตามความเหมาะสม และได้พิจารณานำวิธีการประมูลพันธบัตรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ภายใต้ระบบการให้บริการด้านการเงินด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (BOT Electronic Financial Services: BOT EFS) ของ ธปท. มาใช้ในการจัดหาเงินกู้
ทั้งนี้ กฟผ. เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพและความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน กฟผ. จึงพร้อมเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของประเทศไทย นำร่องในการประมูลพันธบัตรที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ผ่านระบบ e-Bidding ซึ่งจะทำให้สามารถขยายฐานผู้ลงทุนและเข้าถึงผู้ลงทุนหลากหลายกลุ่มได้โดยตรง
รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นทางด้านวงเงินกู้และราคา ซึ่งจะสะท้อนออกมาจากอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการอย่างแท้จริง โดยไม่ผ่านตัวกลางการจัดจำหน่าย เป็นการเพิ่มความโปร่งใสในการประมูลพันธบัตรมากยิ่งขึ้น รวมทั้งลดขั้นตอนและระยะเวลาในการประมูลพันธบัตร นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน และยกระดับการดำเนินการจัดหาเงินกู้ของ กฟผ. ในรูปแบบสากล อีกด้วย
สำหรับปี 2562 กฟผ. มีแผนการออกพันธบัตรเพื่อเสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน ด้วยวิธีการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาทตามที่ ครม. อนุมัติ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่องที่ 1 – 2), โครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่1, โครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12, โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ระยะที่ 2, โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า
และโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กฟผ. แบ่งการออกพันธบัตรเป็นจำนวน 3 ครั้ง ในวงเงินครั้งละ 4,000 ล้านบาท โดยจะออกพันธบัตรครั้งแรก ซึ่งเป็นพันธบัตรที่มีอายุ 10 ปี ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2562