Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

กพร. เร่งผลักดันผู้ประกอบการปรับตัวสู่ Circular Economy เน้นใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการปรับตัวสู่ Circular Economy โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อนำทรัพยากรแร่และโลหะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Innovation in Raw Materials Conference 2019: Circular Economy

นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ Innovation in Raw Materials Conference 2019: Circular Economy ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยกล่าวว่า แนวโน้มการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน และปัญหาการจัดการขยะภายในประเทศที่มีปริมาณเฉลี่ยกว่า 50 ล้านตันต่อปี ทำให้สังคมไทยตื่นตัวกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้กระแสดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือการพลิกผันรูปแบบทางธุรกิจ ผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ควรหันมาให้ความสำคัญและปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต บนพื้นฐานของการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม เผยแพร่แนวทางการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมากขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรของประเทศไทยได้อย่างดี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้านนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่ กพร. เป็นหน่วยงานจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติ (Natural Raw Materials) วัตถุดิบทดแทน (Secondary Raw Materials) จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย และวัตถุดิบขั้นสูง (Advanced Raw Materials) ที่เป็นแร่ โลหะ และสารประกอบโลหะ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนากระบวนการรีไซเคิลขยะหรือของเสียเพื่อสร้างแหล่งทรัพยากรทดแทนแก่ภาคอุตสาหกรรม หรือการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining) ตลอดจนวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบแร่และโลหะ ภายใต้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของภาครัฐแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบ กระทรวงอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน กพร. มีเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบที่ผ่านการพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี จำนวน 49 ชนิด และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 8 ชนิด ที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี รีไซเคิลให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ กว่า 1,500 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนและ/หรือการนำขยะหรือของเสียเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มากกว่า 600 ล้านบาท จึงมีศักยภาพและความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในงานสัมมนาครั้งนี้ พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการต่อยอดเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจาก กพร. มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กำหนดแผนการสัมมนาเชิงวิชาการเป็นประจำทุกปี และในปี 2562 นี้ ได้กำหนดชื่องานว่า Innovation in Raw Materials Conference 2019: Circular Economy มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับ Circular Economy และแนวทางการปรับตัว ผ่านการอภิปรายร่วมโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนขยายผลเทคโนโลยีต้นแบบที่ กพร. พัฒนาขึ้น สู่การนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยนำเสนอนวัตกรรมและผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบแร่ โลหะ และรีไซเคิล อาทิ “การเพิ่มคุณภาพแร่แบไรต์ ด้วย Magnetic Separator” เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ “เทคโนโลยีการผลิตเหล็กกล้าความแข็งแรงสูงชนิด Niobium Alloying HSLA Steel”

สำหรับผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างเสริมคอนกรีตต้านแผ่นดินไหว และ “เทคโนโลยีรีไซเคิลโลหะหายากจากซากแม่เหล็กกำลังสูง” เพื่อเป็นวัตถุดิบรองรับอุตสาหกรรม S-Curve พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมวัตถุดิบของผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) และผู้ประกอบการเดิม (Level-up) ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีจาก กพร. อาทิ การผลิตแผงกั้นจราจรคอนกรีต (Concrete Barrier) และอิฐบล็อกในงานก่อสร้างภายนอก โดยใช้ซากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ส่วนที่ไม่ใช่โลหะทดแทนการใช้ทราย จากบริษัท เจี๋ยฮง อินเตอร์ จำกัด การผลิตสารให้สี (Pigment) ทดแทนในอุตสาหกรรมเซรามิกจากของเสียอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จากบริษัท ทีเค กรีนโนลูชั่น จำกัด และการผลิตเส้นใยบะซอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกชั้นสูง (Advance Ceramic) จากบริษัท ไมน์เค็ม จำกัด ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมแร่ โลหะ วัสดุทดแทน/รีไซเคิล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924