Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

กนอ. จับมือ JICA-ชิชิบุ เคมิคัล พัฒนานวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรม

กนอ.ผนึกกำลัง JICA บริษัท ชิชิบุ เคมิคัล จำกัด ประเทศญี่ปุ่น พัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมนำร่องโครงการสาธิต ก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำฝนใต้ดินด้วยโครงสร้างวัสดุพลาสติก นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เป็น แห่งแรก

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ผวก. กนอ.) กล่าวว่า วิกฤตอุทกภัยถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกปีในประเทศไทย กนอ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่บริหารจัดการดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหานี้ จึงมีแนวคิดหาวิธีป้องกันปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน และให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญขนาดใหญ่ของประเทศ

ล่าสุด กนอ. ได้ร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) และบริษัท ชิชิบุ เคมิคัล จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีพลาสติกจากประเทศญี่ปุ่น นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ด้วยการก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำฝนจากโครงสร้างวัสดุพลาสติก และได้นำมาติดตั้งทดสอบการใช้งานจริงแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังเป็นแห่งแรก ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม

นางสาวคัตสึระ มิยาซากิ ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Chief Representative of Japan International Cooperation Agency Thailand Office หรือ JICA) ระบุว่า มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันโครงการความร่วมมือทางวิชาการนี้ให้เกิดขึ้น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้จากภาคเอกชนญี่ปุ่นมาสู่ไทย เนื่องจากภัยพิบัติจากอุทกภัยถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมาก JICA จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ โดยโครงการศึกษาวิจัยนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชุมชนเมืองมักเกิดปัญหาไม่สามารถระบายน้ำได้ทันเมื่อเกิดฝนตกหนัก เนื่องจากการปรับพื้นดินให้หนาแน่นด้วยคอนกรีตหรือถนนลาดยาง ส่งผลให้พื้นดินมีรูพรุนน้อยและมีประสิทธิภาพซึมซับน้ำฝนลดลง โครงสร้างพลาสติกกักเก็บน้ำฝนในโครงการนี้ ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลน้ำหนักเบา มีลักษณะเป็นแผงติดตั้งไว้ใต้ดิน สามารถเพิ่มจำนวนชั้นได้สูงสุด 10 ชั้น เพื่อเป็นภาชนะกักเก็บน้ำฝนชั่วคราว สามารถเก็บน้ำไว้ในโครงสร้างพลาสติกได้ถึง 95% ของปริมาตรทั้งหมด โดยไม่ทำลายวัฏจักรของน้ำ และมีอายุใช้งานนานถึง 50 ปี สามารถนำมาใช้ได้ทั้งพื้นที่อุตสาหกรรม และเขตที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ โครงสร้าง Plastic Rainwater Storage Structure หรือ PRSS แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการทำงาน คือ 1. โครงสร้างจัดเก็บแบบซึมน้ำ เมื่อน้ำฝนถูกเก็บไว้ภายใน จะค่อยๆ ปล่อยน้ำออกมาแทรกซึมเข้าไปในชั้นพื้นดิน สามารถช่วยเติมน้ำใต้ดินแก่พื้นที่ที่มีปัญหาดินทรุดจากการขุดเจาะน้ำบาดาล และชะลอการทรุดลงของพื้นดิน 2. โครงสร้างจัดเก็บแบบไม่ซึมซับน้ำ นอกจากจะสามารถกักเก็บน้ำฝนไว้ภายในช่วยป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว ยังสามารถนำน้ำฝนใต้ดินเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย เช่น รดน้ำต้นไม้ ซักล้าง ฯลฯ

สำหรับการติดตั้งโครงสร้าง PRSS ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นบ่อหน่วงน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังเป็นหลัก สามารถกักเก็บน้ำฝนไว้ใต้ดินได้มากถึง 303 ลบ.ม. และจะค่อยๆ ปล่อยน้ำออกผ่านท่อระบายน้ำในภายหลัง ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีการติดตั้งโครงสร้าง PRSS ยังสามารถใช้สอยให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นได้อีก เช่น เป็นที่จอดรถ ลานสันทนาการ และยังมีข้อดีอีกหลายประการคือ ติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว และใช้เครื่องจักรในการก่อสร้างน้อย

นางสาวสมจิณณ์ ทิ้งท้ายว่า หากโครงการดังกล่าวมีผลลัพธ์ที่ดีในการช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ก็อาจจะมีการนำไปขยายผลติดตั้งใช้งานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมต่อไป ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924