กนอ. จับมือ กกจ. ร่วมบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลแรงงานต่างด้าว ลุยพัฒนาระบบ ‘สมาร์ทเซอร์วิส’ ยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการในนิคมฯ
กนอ. จับมือ กกจ. ลงนาม MOU เชื่อมโยงฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวแบบดิจิทัล เตรียมเปิดให้บริการออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในนิคมฯ ทั่วประเทศ ลุยพัฒนาระบบ “สมาร์ทเซอร์วิส” ยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการ
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. และกรมการจัดหางาน ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการพาณิชยกรรมในขั้นตอนการขอและออกใบอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาประกอบอาชีพในนิคมอุตสาหกรรมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบดิจิทัล โดยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งสองแห่งแบบ “สมาร์ทเซอร์วิส” (Smart Services) เพื่อให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ ขออนุมัติ อนุญาตผ่านระบบออนไลน์ (Online) ได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ กนอ. และกรมการจัดหางาน มีเป้าหมายที่จะร่วมกันบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้มาตรฐานข้อมูลเดียวกันสำหรับการยื่นคำขอและพิจารณาคำขอแบบออนไลน์ระหว่างทั้งสองหน่วยงานให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลคำขออนุญาตให้ผู้นำช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการต่างด้าวเข้ามาทำงานในนิคมฯ แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ แบบ “สมาร์ทเซอร์วิส” รวมทั้งการอนุญาตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องแจ้งให้กรมการจัดหางาน และแจ้งการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในนิคมฯ และกรมการจัดหางานจะดำเนินการเปิดเผยข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้แก่ กนอ. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต ขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักรและทำงานในนิคมฯ ช่วยเพิ่มความสะดวกลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดการใช้เอกสาร และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กนอ. จะอำนวยความสะดวกในการเปิดเผยข้อมูล และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทำงาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับกรมการจัดหางาน และ ระยะที่ 2 กรมการจัดหางาน จะเป็นผู้จัดทำระบบใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Work Permit) ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาระบบบริการที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และการจัดเก็บข้อมูลของทางราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสูงให้กับนักลงทุน ลดการสูญหายของเอกสารในการติดต่อทางราชการ เป็นการยกระดับหน่วยงานรัฐในขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ยังถือเป็นการยกระดับการให้บริการแก่นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และความคล่องตัวในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำระบบดังกล่าวคัดกรองบุคลากรที่เป็นแรงงานฝีมือและแรงงานชำนาญการที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการที่จะนำเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาชาติให้การยอมรับอีกด้วย
ด้านนางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม และผู้ประกอบพาณิชยกรรมว่า กรมการจัดหางานและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะร่วมพัฒนาและปรับปรุงระบบงานบริการของหน่วยงานให้มีความร่วมมือกันในการวางแผน ออกแบบ พัฒนาระบบงาน และปรับปรุงกระบวนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงข้อมูล และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรม ทั้งนี้เพื่อยกระดับการให้บริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปรับรูปแบบวิธีการดำเนินการของภาครัฐให้มีลักษณะเบ็ดเสร็จครบวงจร มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถติดต่อราชการได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เสียค่าใช้จ่ายน้อยและตรวจสอบได้ ซึ่งปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลหรือยุคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งใช้ระบบสื่อสารข้อมูล คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศเข้ามาอำนวยความสะดวกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เราจึงตัวปรับตัวและแข่งขันให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะตอบโจทย์นโยบาย “Thailand 4.0” ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กรมการจัดหางานมีหน้าที่รับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักรและทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่ กนอ.มีหน้าที่แจ้งการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร และทำงานในนิคมอุตสาหกรรมมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ต่อนายทะเบียนเพื่อออกใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 62 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตให้นำช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้องที่ต้องแจ้งให้กรมการจัดหางาน
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทั้งสองฝ่ายในการพัฒนางานให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้อย่างมีคุณภาพ นายจ้าง สถานประกอบการ คนต่างด้าว รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการนำเข้านวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มการจ้างงาน และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่สร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป