Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

ออกแบบชิ้นงานให้ง่ายและปัง! ต้องมี (อุปกรณ์) อะไรบ้าง?

ในสมัยก่อน หากได้รับโจทย์ในการออกแแบบชิ้นงานสักชิ้น อุปกรณ์สำคัญ คงหนีไม่พ้น กระดาษ ปากกา ไม่บรรทัด และโต๊ะเขียนแบบ ดี ๆ สักชุด แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามามีบทบาทในการออกแบบชิ้นงานมากขึ้น ซึ่งศักยภาพนี้เองจะสร้างความแตกต่างในชิ้นงานที่เกิดขึ้น ส่งต่อคุณค่าสู่ผู้ใช้งานได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ปัจจุบันการทำงานต่าง ๆ ถูกออกแบบมาให้รองรับการทำงานแบบดิจิทัล ทำให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลและการส่งต่อข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดการใช้งานได้อย่างไร้ขีดจำกัด การทำงานต่าง ๆ มีความสะดวกสบายมากขึ้นและสร้างผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่าการทำงานในยุคก่อนหน้า ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากสินค้าหน้าใหม่ที่ออกสู่ตลาดนั้นมีรูปทรงและฟังก์ชันการใช้งานที่เฉพาะตัวมากขึ้น หากลองมองย้อนกลับไปในอดีตที่หลายบริษัทเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นแนวคิด (Concept) กันอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในวงการยานยนต์ มักจะเป็นเพียงภาพหรือโมเดลจำลองกันออกมา แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสู่ตลาดนั้นแทบจะเหมือนกับตอนที่เปิดตัวแนวคิดเลยทีเดียว กลายเป็นงานออกแบบทั้งหมดสามารถส่งตรงสู่การผลิตแล้วกลายเป็นการใช้งานจริงได้โดยไม่ต้องเป็นเพียงแค่ ‘แนวคิด’ ที่ปังแต่อาจจะพังเมื่อผลิตจริง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีอุปกรณ์ที่ดีนั้นสามารถส่งเสริมให้นักออกแบบและวิศวกรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องมานั่งติดขัดเสียอารมณ์กับการทำงานที่ไม่ลื่นไหล นอกจากผลักดันให้ชิ้นงานนั้นมีคุณค่าที่สัมผัสได้ตั้งแต่ในระยะออกแบบแล้ว เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ยังลดเวลาในการส่งสินค้าออกสู่ตลาดอีกด้วย ซึ่ง 4 เครื่องมือที่น่าสนใจนั้นประกอบไปด้วย คอมพิวเตอร์คุณภาพสูง ซอฟต์แวร์สนับสนุนที่ฉลาดสุด ๆ เครื่องมือสำหรับการควบคุมออกแบบงาน และท้ายที่สุดเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่จะรวมเอาความทุ่มเททุกอย่างของคุณออกมาเป็นชิ้นงานที่สัมผัสและใช้ได้

เลือก Computer สุดโหด

แน่นอนว่าเมื่อต้องทำงานในรูปแบบดิจิทัลแล้วคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์แรกเลยที่ต้องมี! และการเลือกคอมพิวเตอร์สักตัวสำหรับงานออกแบบนั้นก็ไม่ใช่จะใช้คอมพิวเตอร์ไก่กาที่ไหนก็ได้อีกเช่นกัน 

การเลือกใช้ Workstation ที่เหมาะสมมีผลอย่างมากต่อการออกแบบชิ้นงานที่เป็น 3 มิติ โดยมีชิ้นส่วนสำคัญ คือ การ์ดจอแสดงผล (GPU) และตัวประมวลผล (CPU) ที่ต้องมี Core มากเป็นพิเศษ ถ้าเป็น CPU แบบ 8 Core ได้ก็จะดีมาก ๆ ในขณะที่การ์ดแสดงผลขอแนะนำให้ใช้รุ่นที่ถูกออกแบบมาเพื่องานระดับสูงอย่าง Nvidia Quadro หรือ AMD Radeon Pro เป็นต้น

นอกจาก CPU และ GPU แล้วการเลือกใช้ RAM หรือหน่วยความจำชั่วคราวที่เป็น DDR4 ขึ้นไปก็สามารถทำให้การใช้งานมีความลื่นไหลได้อีกเช่นกัน และสุดท้ายการเลือกจอแสดงผลที่ถูกต้อง จอแสดงผลหรือจอมอนิเตอร์นั้นสามารถพลิกชิ้นงานที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงามให้กลายเป็นงานที่น่าขัดเขินได้ ควรเลือกจอที่ถูกออกแบบมาสำหรับงานภาพความละเอียดสูงและมีความเพี้ยนสีน้อย คุณอาจใช้บริการสำหรับงาน Calibrate หน้าจอเพื่อช่วยในเรื่องนี้ก็ได้ เรียกได้ว่าความต้องการ (Spec Requirement) ของฮาร์ดแวร์สำหรับงานขึ้นรูป 3 มิตินั้นต้องมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงมากอยู่ครับ

หลายครั้งงานออกแบบเหล่านี้มักถูกเข้าใจว่าใช้งาน Apple ดีกว่าไหม ใช้ Macbook Pro หรือ Mac Pro ไปเลย คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่ครับ ถ้าคุณใช้ Macbook Pro คุณจะได้หน้าจอ Retina Display สีสดสวยมาพร้อมใช้ซึ่งก็ดีอย่างครับ แล้วก็โปรแกรมสนับสนุนสำหรับงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์นั้นสามารถใช้ได้อย่างดีกับจักรวรรดิ Apple แต่สำหรับสายงานอุตสาหกรรมแล้วดูจะไม่เป็นอย่างนั้นสักเท่าไหร่ครับในเรื่องซอฟต์แวร์สนับสนุนต่าง ๆ ทางระบบ Windows จะมีการสนับสนุนและใช้งานที่มากกว่าสำหรับสายอุตสาหกรรม แน่นอนว่าคุณสามารถ Export ไฟล์ แปลงไฟล์ต่าง ๆ กันได้อยู่แล้วแต่ถ้าครบจบในระบบเดียวได้น่าจะเป็นเรื่องที่สร้างความคุ้มค่าได้มากกว่าจริงไหมครับ?

ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่าง CPU ในรุ่นท็อปจากทั้งสองค่ายอย่าง AMD Ryzen Threadripper หรือ Intel Core i9 ที่ถือว่าอยู่ในระดับบนของห่วงโซ่เทคโนโลยีที่พอจะหาซื้อกันได้ในปัจจุบันครับสำหรับสาย PC ส่วนการ์ดจออย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าแนะนำให้ใช้ Radeon Pro Series หรือ Nvidia Quadro Series ครับ หรือถ้าใครอยากได้แบบพกพาอย่างโน้ตบุคก็อาจจะต้องทำใจหน่อยว่าแม้สเป็คที่คล้ายกันกับแบบตั้งโต๊ะแต่สมรรถนะจริงๆ ต้องถือว่าด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบในช่วงราคาเดียวกัน เช่น

  • ASUS ROG STRIX G15 GL542LU-HN164T
  • ASUS ZENBOOK PRO DUO UX581GV-H2003R
  • MICROSOFT TABLET SURFACE BOOK3 (CPU I7 10th Gen)
  • LENOVO NOTEBOOK LEGION5I 15IMH05H-81Y600F8TA
  • MSI NOTEBOOK GF75 10SER-269TH
  • ACER NOTEBOOK NITRO AN515-44-R2A6

ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถสั่งผ่านร้านคอมพิวเตอร์ชื่อดังยอ่าง JIB, Banana IT, Speed Computer หรือถ้าใครสายอินดี้หน่อยก็ได้ร้าน Jedi Online ร้านเก่าแก่ของนักเล่นคอมพันทิปก็ได้ครับ

ใช้ซอฟต์แวร์ที่ใช่… จบงานไว… ได้งานดี

เราคุยกันเรื่องฮาร์ดแวร์ผ่านไปแล้ว ตอนนี้เรามาดูกันดีกว่าครับว่าซอฟต์แวร์นั้นมีอะไรกันบ้าง การขึ้นรูปโมเดล 3 มิตินั้นมีซอฟต์แวร์มากมายหลากหลายในตลาดครับ มีทั้งของที่ปล่อยให้ใช้ฟรี เป็น Open Source บ้าง ที่เห็นกันมากหน่อยน่าจะเป็นกลุ่มเช่าใช้ (Subscription) ครับ

อย่างแรกคุณต้องเข้าใจก่อนว่าการขึ้นโมเดลหรือชิ้นงาน 3 มิติ หลายโปรแกรมสามารถ ‘ทำได้’ แค่ ‘แสดงผล’ นะครับ หลายครั้งเป็นภาพนิ่งได้เป็นหลัก บางโปรแกรมก็เหมาะสำหรับการขึ้นรูปและสร้างการเคลื่อนไหวแบบแอนิเมชัน หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่เราดูกันนั่นแหละครับ ถ้าอยากลองขึ้นรูปโมเดล 3 มิติก็อาจต้องดูนิดนึงว่าซอฟต์แวร์นั้น ๆ รองรับไหม ยกตัวอย่างเช่น Blender ซอฟต์แวร์สำหรับงาน 3 มิติที่เป็นซอฟต์แวร์ฟรี ใช้ทำงานแอนิเมชันก็ได้ล่าสุดก็ยังใช้งานกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้อีกด้วย หรือจะเป็นโปรแกรมตัดต่อภาพมือโปรอย่าง Adobe Photoshop ที่ปัจจุบันก็มีส่วนเสริมให้สามารถเปิดไฟล์งาน 3 มิติและสั่งพิมพ์ได้แล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตามซอฟต์แวร์เหล่านี้แม้จะใช้งานกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะสมกับงานอุตสาหกรรมจริง ๆ เพราะการออกแบบในงานอุตสาหกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ซอฟต์แวร์ที่ยกตัวอย่างมานั้นไม่สามารถจำลองคุณสมบัติของชิ้นงานได้ คุณอาจขึ้นโมเดลจำลอง ของตกแต่ง หรืออะไรง่าย ๆ ที่ไม่ต้องมีการขยับหรือรับน้ำหนักมากก็ได้ครับ แต่ชิ้นงานหรือชิ้นส่วนที่ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งยังมีการรองรับโหลด มีการเคลื่อนไหว หรือกล่าวได้ว่าหากมีการใช้งานหน้าที่สำคัญ ๆ อย่างภายในเครื่องยนต์ของเครื่องบินเจ็ทการซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างละเอียดนั้นอันตรายเกินไป

ซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบชิ้นงาน 3 มิติในอุตสาหกรรมนั้นต้องมีความแม่นยำในการทำงานสูง รวมถึงมีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่สามารถแสดงค่าให้เห็นอย่างชัดเจน เอาง่าย ๆ ก็เหมือนสามารถคาดคะเนผลจากการออกแบบได้นั่นเอง ถ้าจะให้ดีไปเลยผมอยากบอกว่าก็เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถจำลอง (Simulate) การทำงานของชิ้นส่วนเหล่านั้นได้นั่นแหละครับ ซึ่งในตลาดปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เฉพาะทางเหล่านี้ไม่น้อยเช่นกัน และบอกได้เลยว่าใช้งานไม่ยากอย่างที่คิดเนื่องจากซอฟต์แวร์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ขอแค่คุณมีพื้นฐานคอมพิวเตอร์มาบ้าง จับคอมพิวเตอร์บ่อย ๆ ก็คลำไปใช้งานได้แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น Solidworks ที่สามารถเลือกชนิดของวัสดุได้ สามารถกำหนดแรงลงไปที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วจำลองแรงที่เกิดขึ้นและแสดงผลออกมาเป็นภาพของแรงที่ถ่ายเทลงบนวัตถุให้เห็นได้อย่างชัดเจน

ซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบนั้นปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายหลายรายด้วยกันในประเทศไทยซึ่งซอฟต์แวร์แต่ละตัวก็ล้วนมีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป แต่ซอฟต์แวร์ดัง ๆ ที่รู้จักและนิยมใช้กันนั้นมีอยู่ไม่มากนัก แต่ที่อยากจะแนะนำให้รู้จักในวันนี้ คือ 

Siemens NX ด้วยความที่เป็น SIEMENS เองทำให้จุดเด่นของซอฟต์แวร์นี้สามารถใช้งานได้กับซอฟต์แวร์การจำลองและทำงานอื่น ๆ ของ SIEMENS ได้อย่างดีที่สุด เรียกว่ามากันเป็นจักรวรรดิมาเป็นทีม ทั้งยังใช้ในการออกแบบระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การเดินสายไฟต่าง ๆ ของชิ้นงาน เช่น ยานยนต​์ได้ ไปจนถึงการออกแบบการทำงานอัตโนมัติสำหรับ PLC ได้อีกด้วย ถ้าสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อ dtm-thailand.com ได้เลยครับ

Solidworks ซอฟต์แวร์ชื่อดังที่มีบริษัทกว่า 200,000 แห่งใช้งาน มีผู้ใช้งานกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นการใช้งานคนเดียว ใช้งานเป็นทีม หรือการทำงานเป็นองค์กร มีการใช้งาน Product Design Management (PDM) ช่วยเก็บข้อมูลเวอร์ชันการออกแบบต่าง ๆ เรียกว่าใช้ง่าย ใช้ไว สบายใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ applicadthai.com

AUTODESK อีกหนึ่งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบที่หลากหลายและครอบคลุมการทำงานไม่เฉพาะอุตสาหกรรม หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ AutoCAD ซึ่งปัจจุบันออกตัวเสริมสำหรับงานอุตสาหกรรมมาโดยเฉพาะมากมาย เช่น AutoCAD Mechanical, AutoCAD Inventor LT Suite หรือ AutoCAD ELECTRICAL เป็นต้น ทำให้ซอฟต์แวร์จาก AUTODESK สามารถตอบสนองต่อการออกแบบได้อย่างหลากหลาย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม synergysoft.co.th

Solid Edge ซอฟต์แวร์ทีเด็ดอีกรุ่นหนึ่งจาก SIEMENS ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบงาน CAD มุ่งเน้นไปที่การออกแบบชิ้นส่วนเป็นหลัก สามารถเลือกวัสดุและแสดงผลการจำลองเงื่อนไขการใช้งานได้อย่างง่ายดาย ถือเป็นซอฟต์แวร์จากจักรวรรดิ SIEMENS อีกรุ่นหนึ่งที่ใช้งานง่ายและมีราคาเข้าถึงได้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ premiumplm.com

Mouse และเครื่องสแกน 3 มิติผู้ช่วยงานออกแบบที่อาจถูกมองข้าม

งานออกแบบเป็นงานที่ต้องการความละเอียดสูง การใช้ Mouse คลิกซ้ายคลิกขวาอาจเหมาะกับงาน 2 มิติ ในระดับหนึ่งแต่สำหรับงานออกแบบชิ้นส่วน 3 มิติ หรือการออกแบบภาพร่างนั้นการใช้ Mouse ทั่วไปอาจกลายเป็นภาระในการทำงานมากกว่าการช่วยเหลือ การทำงานกับวัตถุ 3 มิติในคอมพิวเตอร์จึงต้องการเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือในการทำงาน ในขณะที่การทำงานที่ต้องถอดแบบจากโมเดลจำลองต่าง ๆ ถ้าต้องมานั่งเขียนใหม่ก็อาจกินเวลามากเกินไป นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์สแกน 3 มิติที่สามารถเป็นเครื่องมือช่วยในการถอดแบบจากวัตถุได้อย่างดีอีกเช่นกัน

การใช้งาน Mouse ปากกาอย่าง Wacom สามารถช่วยให้หยิบจับ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าและควบคุมได้อย่างเป็นอิสระมากกว่า ในขณะที่ Mouse ปากการุ่นสูง ๆ นั้นตัวแผ่นรองจะเป็นหน้าจอที่สามารถตั้งค่าการใช้งานต่าง ๆ และแสดงผลบางส่วนให้สามารถทำงานได้ง่ายเหมือนกับการขีดเขียนบนแท็บเบล็ต ทำให้สะดวกสบายในการออกแบบมากขึ้น เช่น Wacom Cintiq Pro ที่จะช่วยให้การออกแบบชิ้นงานสะดวกมากขึ้น ถ้าสนใจสินค้าสำหรับ Wacom สามารถติดต่อได้ที่ vstesc.co.th เลยครับ

ในงานออกแบบ 3 มิติ การใช้งาน Mouse สำหรับงาน CAD จะสามารถช่วยควบคุมการเปลี่ยนมุมองศาได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบ 360 องศา ในขณะที่การใช้งาน Mouse ทั่วไปและ Mouse ปากกาเป็นการทำงานบนแกน X Y แบบ 2 มิติเป็นหลัก ทำให้การควบคุมต่าง ๆ นั้นไม่เพียงพอในการทำงาน เช่น การตรวจดูจุดในมุมต่าง ๆ ว่ามีแรงกระจายไปในส่วนไหนของชิ้นงานบ้าง การทำงานกับชิ้นส่วน 3 มิติจึงกลายเป็นเรื่องยุ่งยากหากใช้งานแค่ Mouse เฉพาะแกน X หรือ Y เพียงแค่นั้น การทำงานร่วมกันของอุปกรณ์สองอย่างนี้เป็นการปลดล็อคศักยภาพสำหรับงานออกแบบที่ต้องการรายละเอียดสูง โดยหนึ่งใน Mouse สำหรับงาน CAD ที่นิยมใช้งานกัน คือ SpaceMouse จาก 3DConnexion มีผู้จัดจำหน่ายที่สามารถสนับสนุนงานด้านอุตสาหกรรมอยู่ 2 ราย สามารถติดต่อได้ที่ applicadthai.com และ dtm-thailand.com

สำหรับกล้องสแกนชิ้นงาน 3 มิติ นั้นเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ถอดแบบจากโมเดลหรือชิ้นส่วนมาเป็นรูปทรง 3 มิติในคอมพิวเตอร์เพื่อทำการปรับแต่งหรือทำวิศวกรรมย้อนกลับ สามารถลดระยะเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี หนึ่งในอุปกรณ์สแกน 3 มิติที่น่าสนใจ คือ T-Scan จาก ZEISS ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องและเลนส์ มีจุดเด่นที่ขนาดเล็กกะทัดรัด มีความคล่องตัวในการใช้งานสูงในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพการใช้งานที่น่าประทับใจ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมติดตามต่อได้ที่ zeiss.com.sg

ติดปีกงานต้นแบบด้วย Rapid Protoype และสร้างชิ้นส่วนสุดพิเศษหนึ่งเดียวในโลก

เทคโนโลยีเติมเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) หรือการพิมพ์ 3 มิติที่เราเรียกกันติดปากเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในปัจจุบันด้วยความสามารถในการผลิตต้นงานที่รวดเร็วหากเปรียบเทียบกับการทดสอบขึ้นชิ้นงานต้นแบบในอดีต ลดระยะเวลาการทำงานจากหลักสัปดาห์ให้เหลือหลักวันหรือหลักชั่วโมงได้

ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินั้นมีการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ซึ่งมีให้เลือกอยู่มากมาย ทำให้ตอบสนองต่อการผลิตงานที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ไม่ว่าจะเป็นงานผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินเจ็ท การพิมพ์ทางการแพทย์ การพิมพ์ชิ้นส่วนพลาสติกหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยจุดเด่นจริง ๆ ของการใช้งานเทคโนโลยีนี้ คือ การผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนสูงที่การผลิตวิธีอื่นไม่สามารถทำได้ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานที่ต้องการน้ำหนักเบา มีความซับซ้อนของโครงสร้าง และต้องมีความแข็งแรง ซึ่งในการผลิตด้วยกรรมวิธีกัดเนื้อวัสดุนั้นอาจต้องใช้การประกอบชิ้นส่วนเพิ่มเติม และรอยต่อนั้นเองที่ลดทอนความแข็งแรงของชิ้นงานลงทำให้ไม่เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยสูง

การใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถลดต้นทุนในการผลิตชิ้นส่วนต้นแบบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเวลา ค่าใช้จ่าย การเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าออกสู่ตลาด
และเนื่องจากการลดเวลาในส่วนของการทดสอบชิ้นส่วนต้นแบบลงอย่างมาก หลายรุ่นจึงสามารถติดตั้งในสำนักงานหรือห้องขนาดเล็กที่มีการระบายอากาศที่ดีได้ หรือหากต้องการใช้การพิมพ์ 3 มิติด้วยเครื่องมือเกรดอุตสาหกรรมก็มีจำหน่ายแล้วในบ้านเราเช่นกัน

สำหรับผู้ผลิตหน้าใหม่หรือผู้ผลิตรายย่อยเครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถตอบสนองการผลิตสินค้าจำนวนน้อย หรือสินค้าที่มีความต้องการพิเศษได้ขอเพียงแค่มีไฟล์สำหรับพิมพ์ ยกตัวอย่าง Mini ยานยนต์จากยุโรปที่มีช่วงหนึ่งให้ลูกค้าสามารถเลือกชิ้นส่วนพิเศษที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของผู้ขับซึ่งสอดคล้องไปกับภาพลักษณ์ความแตกต่างของแบรนด์ได้อีกด้วย ภายใต้แนวคิดเดียวกันนี้เองทุกคนสามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีความเฉพาะเจาจง มีอัตลักษณ์ขึ้นมาได้ง่ายและสะดวกกว่าที่เคยมีมาในอดีตของมนุษยชาติ

ปัจจุบันเครื่องพิมพ์ 3 มิติในตลาดมีมากมายหลายรุ่นครอบคลุมทุกช่วงราคาและความต้องการ ตั้งแต่ผู้ผลิตราคาถูกเข้าถึงง่ายไม่มีการสนับสนุนไปจนถึงการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลักสิบล้านร้อยล้าน จึงขอยกตัวอย่างเครื่องพิมพ์ 3 มิติบางรุ่นเพื่อให้ทำความรู้จักกัน ดังนี้

Formlabs Form 3L เครื่องพิมพ์ 3 มิติระบบเรซิ่นมาพร้อมกับความสามารถใหม่ Low Force Stereolithography (LFS) ซึ่งช่วยลดแรงดึงระหว่างชิ้นงานกับถาดพิมพ์ ทำให้ถาดพิมพ์ใช้งานได้นานขึ้น พิมพ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังมีระบบ Light Processing Unit (LPU) แบบใหม่ที่ทำให้แสงเลเซอร์ที่ตกกระทบกับเรซิ่นมีจุดที่เล็กลง ความแม่นยำสูงสุดถึง 85 ไมครอน หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ print3dd.com 

FORMIGA P 110 Velocis เครื่องพิมพ์ 3 มิติระดับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตชิ้นส่วนจากโพลีเมอร์คุณภาพสูง สามารถทำงานได้เร็วกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 20% เหมาะกับการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องการคุณภาพสูงในขณะที่สามารถลดต้นทุนการผลิตต่อชิ้นลงได้ ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ในการใช้งานมีเพียงค่าวัสดุและพลังงาน วางใจได้ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายซ่อนเร้นในการใช้งาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ septillion.co.th

Shop System เครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ จาก Desktop Metal ที่ใช้ระบบการขึ้นรูปแบบ Binder Jetting  สามารถใช้งานได้ง่าย ปลอดภัย มีความคุ้มค่าในการผลิตสูง มีความรวดเร็วในการทำงานมากกว่าแบบ Laser Powder Bed Fusion ถึง 10 เท่า จึงทำให้ผลิตชิ้นงานโลหะได้ถึง 70 กิโลกรัมต่อวัน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaisakolgroup3d.com

การใช้งานอุปกรณ์ที่เหมาะสมร่วมกันจะช่วยปลดล็อคการทำงานให้เกิดความลื่นไหล และสามารถก้าวข้ามปัญหาด้านเทคนิคในการทำงานได้อย่างง่ายดาย ในกรณีของอุปกรณ์เหล่านี้นั้นสามารถลดระยะเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอนลงได้อย่างมาก ช่วยให้สินค้าหรือชิ้นงานออกสู่ตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถใส่ใจกับรายละเอียดเล็กน้อยโดยไม่ต้องกดดันกับขีดจำกัดของเครื่องมือในการใช้งาน สร้างความมั่นใจในคุณภาพการใช้งานชิ้นส่วนด้วยการจำลองที่แม่นยำ

อ้างอิง:
Cgdirector.com/best-computer-3d-modeling-rendering/
Segmentnext.com/articles/best-workstation-gpus/
Geeksip.com/best-monitors-for-3d-modeling/
All3dp.com/1/best-free-3d-modeling-software-3d-cad-3d-design-software/

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924