บทความหลัก… ว่ากันด้วย 3 เรื่องจริง ของ INDUSTRY 4.0
ที่ผ่านมา ตัวเลข 4.0 เป็นเหมือนคีย์เวิร์ดที่ถูกนำมาพูดถึงเพื่อให้จำง่าย ทว่าในทางกลับกัน กลายเป็นความตื่นตระหนกและหวาดวิตกที่ทำให้โรงงานและอุตสาหกรรมไทยรู้สึกว่า 4.0 เป็นเรื่องไกลตัวเกินเอื้อม ทั้งที่ความเป็นจริงหาใช่เช่นนั้น
วิถีชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมทั่วไปกว่า 60-70% ของเรา เรียกว่าเหยียบอยู่ในพื้นที่ 4.0 อยู่แล้ว ทุกวันนี้ ชีวิตเราต่างก็ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล มี Information มากมายอยู่รอบตัวเรา และด้วยวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่นับวันยิ่งเปลี่ยนไปนี่เอง ที่ทำให้ภาคการผลิตต้องปรับตัว
เอาเข้าจริง อุตสาหกรรม 4.0 คือ การทำให้เกิดการ Convergence กันอย่างสมบูรณ์ของข้อมูลการผลิต และสถานะการผลิตจริงของเครื่องจักร เพื่อให้เกิดสภาวะการควบคุมและเฝ้าติดตามแบบ Real Time ซึ่งหมายถึงการวัดการที่ทันเวลา ทันที หรือทันใจนั่นเอง
คำถามที่ตามมา คือ ทำอย่างไรให้ Convergence และ Real Time ?
อาจารย์วรินทร์ รอดโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันไทย-เยอรมัน ให้คำตอบอย่างน่าสนใจว่า ในการผลิตแบบ 4.0 นั้น มีคีย์เวิร์ด คือ ข้อมูล (Information) และกายภาพ (Physical) โรงงานหรือผู้ใช้ ต้องใส่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเพื่อทำข้อมูลทั้งหมดให้เป็นกลายดิจิทัล ทุกอย่างจะกลายเป็นสากล การรับ-ส่งข้อมูลก็จะเป็นอิสระจากพื้นที่และเวลา รวมถึงต้องทำให้เรื่องทางกายภาพ (Physical) ทำให้เป็น CPS (Cyber Physical System) ถ้าทุกอย่าง Smart แล้วให้มันมาหลอมรวมกัน ทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของ Real Time เมื่อมันหลอมรวมแล้ว ทุกอย่างก็จะ Real Time เอง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ โรงงานทำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีออร์เดอร์สั่งเม้าส์เข้ามา 100 ชิ้น ยอดคำสั่งซื้อ 100 ชิ้นจากลูกค้านี้ ต้องกระจายไปสู่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทันที ต้องไม่ใช่การมาสั่งที่ฝ่ายขาย แต่คำสั่งนี้ต้องไปถึงสต็อกวัตถุดิบเพื่อเช็กจำนวนวัตถุดิบ เช่น เม็ดพลาสติก และสายไฟ ส่วนไลน์การผลิตต้องแบ่งงานกัน เครื่องจักรแต่ละตัวรู้หน้าที่ของตัวเองและพร้อมเริ่มเดินสายการผลิตทันที รวมถึงระบบซัพพลาย การซ่อมบำรุง การบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการขนส่งถึงมือลูกค้า ฉะนั้น ทันทีที่ลูกค้าคลิกเอ็นเทอร์สั่ง 100 ชิ้นปุ๊บ ระบบข้อมูลของโรงงานคุณทั้งหมดจะประเมินและคำนวณเวลา และตอบกลับไปที่ลูกค้าได้ทันทีว่า อีก 15 วัน ลูกค้าจะได้รับสินค้าถึงมือ นี่เรียกว่า Real Time
เห็นได้ว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ ทุกโรงงานมีอยู่แล้ว แต่ยังทำด้วยมือ และทำแบบแยกส่วนกัน ฝ่ายใครฝ่ายมัน ไลน์ใครไลน์มัน เพราะข้อมูลยังไม่ดิจิทัล และระบบยังไม่เป็นไซเบอร์ คุณต้องดึงข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมาหลอมรวมให้การทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เพียงเท่านี้ก็จะได้โรงงานอัจฉริยะที่ทำงานแบบ Convergence บนพื้นฐานของความเป็น Real Time
โรงงานและภาคอุตสาหกรรมบ้านเรามีความพร้อมในทุกองค์ประกอบแล้ว ไม่ว่าเครื่องมือ เครื่องจักร และระบบ เพียงแต่ต้องหาจุดตัด จุดคานงัดที่จะดีดตัวเองขึ้นไปสู่ 4.0 ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากคำว่า ‘Convergence’ หรือหลอมรวมนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ 1 และ 3
- การพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็น 4.0 ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
- เรื่องเล่าจากเยอรมนี… ประเทศผู้นำด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง 4 ยุค
Source:
อาจารย์วรินทร์ รอดโพธิทอง
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันไทย-เยอรมัน